[Font : 15 ]
| |
ผลสูงต่ำแห่งการปฏิบัติ ตามที่อาจทำให้เกิดขึ้น |  

ภิกษุ ท.! ปีติ ที่ประกอบด้วยอามิส (สามิส) ก็มี ปีติที่ไม่ประกอบด้วยอามิส (นิรามิส) ก็มี ปีติไม่ประกอบลด้วยอามิที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส (นิรามิสตร) ก็มี.

ความสุข ที่ประกอบด้วยอามิส ก็มี ความสุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี ความสุขไม่ประกอบด้วยอามิสที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี.

อุเบกขา ที่ประกอบด้วยอามิส ก็มี อุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี อุเบกขากไม่ประกอบด้วยอามิสที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี.

วิโมกข์ ที่ประกอบด้วยอามิส ก็มี วิโมกข์ที่ไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี วิโมกข์ไม่ประกอบด้วยอามิสที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี.

ภิกษุ ท.! ปีติที่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! กามคุณ 5 อย่างเหล่านี้ มีอยู่, 5 อย่างคือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ....เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ.... กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ.... รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา.... โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย อันเป็นสิ่งน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือกามคุณ 5 อย่าง. ภิกษุ ท.! ปีติใด อาศัยกามคุณ 5 อย่างเหล่านี้เกิดขึ้น, ปีตินี้เรียกว่า ปีติประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! ปีติไม่ได้ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่; เพราะความที่วิตกวิจารทั้ง 2 ระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท.! ปีตินี้เรียกว่า ปิติไม่ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! ปีติไม่ประกอบด้วยอามิส ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! เมื่อ ภิกษุขีณาสพ พิจารณาจิต ที่หลุดพ้นจากราคะ จิตที่หลุดพ้นจากโทสะ จิตที่หลุดพ้นจากโมหะอยู่; ปีติใดเกิดขึ้น, ปีตินั้นเรียกว่า ปีติไม่ประกอบด้วยอามิส ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! สุขที่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! กามคุณ 5 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 5 อย่าง คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ....เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ .... กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ …. รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา … โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย อันเป็นสิ่งน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือกามคุณ 5 อย่าง. ภิกษุ ท.! สุขโสมนัสใด อาศัยกามคุณ 5 อย่างเหล่านี้เกิดขึ้น, สุขนี้เรียกว่า สุขประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! สุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่; เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่; อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้ อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า "เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสิต อยู่เป็นปกติสุข" ดังนี้, เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท.! สุขนี้เรียกว่า สุขไม่ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! สุขไม่ประกอบด้วยอามิส ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! เมื่อ ภิกษุขีณาสพ พิจารณาจิต ที่พ้นแล้วจากราคะ จิตที่พ้นแล้วจากโทสะ จิตที่พ้นแล้วจากโมหะอยู่; สุขโสมนัสใดเกิดขึ้น, สุขโสมนัสนั้นเรียกว่า สุขไม่กอบด้วยอามิส ทิ่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! อุเบกขาที่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! กามคุณ 5 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 5 อย่าง คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ....เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ....กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ.... รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา.... โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย อันเป็นสิ่งน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือกามคุณ 5 อย่าง. ภิกษุ ท.! อุเบกขาใด อาศัยกามคุณ 5 อย่างเหล่านี้เกิดขึ้น, อุเบกขานี้เรียกว่า อุเบกขาประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! อุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน, เข้าถึง จตุตฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท.! อุเบกขานี้เรียกว่า อุเบกขาไม่ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! อุเบกขาไม่ประกอบด้วยอามิส ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! เมื่อ ภิกษุขีณาสพ พิจารณาจิต ที่พ้นแล้วจากราคะ จิตที่พ้นแล้วจากโทสะ จิตที่พ้นแล้วจากโมหะ อยู่ ; อุเบกขาใดเกิดขึ้น, อุเบกขานั้นเรียกว่า อุเบกขาไม่ประกอบด้วยอามิส ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! วิโมกข์ที่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? วิโมกข์ที่ประกอบเนื่องอยู่ในรูป เรียกว่า วิโมกข์ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! วิโมกข์ที่ไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? วิโมกข์ที่ประกอบเนื่องอยู่ในอรูป เรียกว่า วิโมกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส.

ภิกษุ ท.! วิโมกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส ทิ่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! เมื่อภิกษุขีณาสพ พิจารณาจิตที่พ้นแล้วจากราคะ จิตที่พ้นแล้วจากโทสะ จิตที่พ้นแล้วจากโมหะ อยู่; วิโมกข์ใดเกิดขึ้น , วิโมกข์นั้นเรียกว่า วิโมกข์ไม่ประกอบด้้วยอามิส ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส แล.

- สฬา.สํ. 18/292–295/446-457.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง