[Font : 15 ]
| |
ทุกข์

1. พยัญชนะ : ทุกข์โดยพยัญชนะ : คือ ทนยาก, ดูแล้วน่าเกลียด, ว่างอย่างน่าเกลียด.

2. อรรถะ : ทุกข์โดยอรรถะ :

2.1 เจ็บปวดทรมาน แม้แต่ความสุขก็ยังต้องทน.

2.2 ดูแล้วน่าเกลียด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหลอกลวงซ่อนเร้น.

2.3 ว่างอย่างน่าเกลียด เพราะมันว่างจากสารประโยชน์ และความหมายแห่งความเป็นตัวตน.

ความเป็นทุกข์อย่างเจ็บปวดทรมานนั้น ใช้ได้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต. ความน่าเกลียดและความว่างอย่างน่าเกลียด ใช้ได้กับทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต.

3. ไวพจน์ : ทุกข์โดยไวพจน์ :

3.1 โลก (ในการตรัสอริยสัจอีกปริยายหนึ่ง ทรงใช้คำว่า “โลก” แทนคำว่า ทุกข์).

3.2 โรค (ในความหมายว่าเป็นเครื่องเสียบแทง).

4. องค์ประกอบ : ทุกข์โดยองค์ประกอบ :

1. ปัจจัยภายใน: มีอวิชชา ตัณหา เป็นต้น.

2. ปัจจัยภายนอก: มีขันธ์ สังขาร เป็นต้น.

3. การยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ของปัจจัยภายในที่มีต่อปัจจัยภายนอก.

5. ลักษณะ : ทุกข์โดยลักษณะ : มีลักษณะไม่พึงปรารถนาทุกชนิด :

5.1 ทนยาก (เพราะเปลี่ยนแปลงเรื่อย).

5.2 น่าเกลียด (เพราะหลอกลวง).

5.3 น่ากลัว (เพราะเผาลนท่วมทับ ผูกมัด เสียบแทง ฯลฯ).

5.4 กัดเจ้าของ.

6. อาการ : ทุกข์โดยอาการ :

นัยที่ 1 : ที่เป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ : มีอาการ คือ ความเกิด, ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความโศก, ความร่ำไรรำพัน, ความไม่สบายกาย, ความไม่สบายใจ, ความคับแค้นใจ, ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ, ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ, ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น.

นัยที่ 2 : ที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส : มีอาการ คือ ความรัก, ความโกรธ, ความเกลียด, ความกลัว, ความตื่นเต้น, ความวิตกกังวล, ความอาลัยอาวรณ์, ความอิจฉาริษยา, ความหวงแหน, ความหึง ฯลฯ

7. ประเภท : ทุกข์โดยประเภท : แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. อยู่ในรูปของนรก (คือเปิดเผย).

2. อยู่ในรูปของสวรรค์ (คือซ่อนเร้น).

กลุ่มที่ 2 :

1. ทุกข์ที่อยู่ในรูปของเวทนา : คือความรู้สึกเจ็บปวดโดยตรง.

2. ทุกข์ที่อยู่ในรูปของลักษณะ : คืออยู่ในลักษณะแห่งความทุกข์แต่หามีเวทนาไม่ (โดยบทว่า: สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์).

8. กฏเกณฑ์ : ทุกข์โดยกฏเกณฑ์ :

8.1 ความทุกข์มีทั้งที่เป็นเพียงลักษณะและเป็นเวทนา.

8.2 ความทุกข์ต้องมีเหตุมีปัจจัย.

8.3 ความทุกข์เกิดที่ตรงไหน ต้องดับที่ตรงนั้น คือดับที่ปัจจัย.

8.4 การศึกษาเรื่องความทุกข์ ต้องศึกษาจากสิ่งที่กำลังมีชีวิต (เพราะเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิต).

8.5 ความทุกข์และความสุขนี้มิได้มาจากกรรมเก่าหรือพระเป็นเจ้าบันดาล; แต่มาจากการปฏิบัติถูกหรือผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา.

9. สัจจะ : ทุกข์โดยสัจจะ

9.1 ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้; เหตุแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่ควรละ; ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ; ทางปฏิบัติให้ลุถึงความดับทุกข์ (อริยมรรคมีองค์ 8) เป็นสิ่งที่ควรทำให้มี.

9.2 ทุกข์ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เพิ่งจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยของทุกข์.

9.3 ความทุกข์ทั้งหลายเกิดที่จิต ต้องดับกันที่จิต.

9.4 ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ; นอกจากทุกข์แล้วหามีอะไรเกิดและดับไม่ (แม้ที่สุดแต่ที่เรียกว่าสุข).

9.5 สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ (แม้ความสุขก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง).

9.6 ในวนแห่งวัฏฏะนั้น มีแต่สิ่งที่เป็นทุกข์.

9.7 การเกิดแห่งธาตุคือการเกิดแห่งทุกข์ (การปรากฏแห่งอสังขตธาตุมิใช่การเกิดแห่งธาตุ).

10. หน้าที่ : ทุกข์โดยหน้าที่ :

10.1 กัดเจ้าของ.

10.2 ปรากฏออกมาทุกคราวที่มีการทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา.

11. อุปมา : ทุกข์โดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 แบกของหนัก.

11.2 ไฟเผา.

11.3 โรคเสียบแทง.

11.4 ข้าศึก.

11.5 ความมืด ฯลฯ

11.6 คางคกที่มีเพชรอยู่ในหัว (ความดับทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในความทุกข์).

12. สมุทัย : ทุกข์โดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยคือกิเลส : ได้แก่อวิชชาให้เกิดตัณหา ; ตัณหาให้เกิดอุปาทาน; อุปาทานให้เกิดทุกข์.

12.2 สมุทัยคือสังขาร : คือ การปรุงแต่งและถูกปรุงแต่งของสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัย ; หยุดการปรุงแต่งก็หยุดทุกข์.

12.3 เมื่อกล่าวโดยสรุป : ความอยากความต้องการด้วยอำนาจของอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์. (ต้องมีความอยาก ความต้องการด้วยวิชชาที่เรียกว่า สังกัปปะ ไม่เรียกว่าตัณหาจึงจะไม่เกิดทุกข์).

12.4 สำหรับโลกสมัยปัจจุบันนี้ กล่าวได้ว่า ความทุกข์ทุกชนิดมาจากความเห็นแก่ตัว ด้วยอำนาจของอวิชชา ของคนในโลกนั่นเอง.

13. อัตถังคมะ : ทุกข์โดยอัตถังคมะ :

13.1 การขาดเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ตามครั้งคราว.

13.2 การควบคุมไว้ได้ด้วยสติ โดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะ.

14. อัสสาทะ : ทุกข์โดยอัสสาทะ : คือสิ่งที่กลบเกลื่อนความทุกข์ไว้ โดยความเป็นมายาหลอกลวง เหมือนน้ำตาลที่เคลือบหุ้มยาพิษ.

15. อาทีนวะ : ทุกข์โดยอาทีนวะ : คือการกัดเจ้าของโดยอาการต่างๆ เหลือที่จะกล่าว.

16. นิสสรณะ : ทุกข์โดยนิสสรณะ :

16.1 อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งในบางที่ก็ตรัสไว้ด้วยถ้อยคำสั้นๆเพียงสองคำว่า สมถะและวิปัสสนา.

16.2 การเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือเห็นอนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา จนไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด.

16.3 การมีปัญญาหรือวิชชา ที่สามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ของกูเสียได้.

17. ทางปฏิบัติ : ทุกข์โดยทางปฏิบัติ : ทางปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ :

17.1 ศึกษาให้รู้จักความทุกข์.

17.2 มีสติป้องกันการเกิดแห่งความทุกข์ (โดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะ).

17.3 มีสมาธิและปัญญากำจัดความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว.

17.4 มีชีวิตอยู่อย่างปราศจากความทุกข์ โดยมีสติในทุกกรณีที่เป็นการป้องกัน แก้ไข รักษา พอกพูน ฯลฯ

17.5 มีมนต์ประจำตัวสำหรับตวาดขับไล่ความทุกข์: เช่น กูไม่เอากับมึง ฯลฯ หรือที่พวกมหายานเขามีว่า “ไป! ไป! ไปที่อื่น! ไปให้หมด!”

17.6 ทำความทุกข์ให้เป็นของว่างหรือสุญญตาไปเสีย แล้วไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด.

18. อานิสงส์ : ทุกข์โดยอานิสงส์ :

18.1 ความทุกข์เป็นครูที่สอนดี สอนให้ฉลาด สอนจริง สอนถูก สอนรุนแรงกว่าความสุข ซึ่งมีแต่ทำให้เหลิง.

18.2 ทำให้เกิดศรัทธาแน่นแฟ้นในสิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง.

18.3 ความทุกข์นั่นแหละจะบังคับหรือผลักดันคน ให้รีบออกไปเสียอย่างไม่ให้รีรออยู่.

18.4 ความทุกข์เป็นบทเรียนของชีวิต ที่ทำให้คนเข้มแข็งในการแก้ไขต่อสู้อุปสรรค.

18.5 แท้จริงความทุกข์มิได้มีมาเพื่อให้เราเป็นทุกข์ แต่เพื่อให้เราเป็นคนเก่ง.

19. หนทางถลำ : ทุกข์โดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความทุกข์ :

19.1 การขาดสติ.

19.2 การทนความยั่วยวนของสิ่งยั่วยวนไม่ได้.

19.3 การไม่ได้ยินได้ฟังได้เห็นเหล่าพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า.

19.4 ไม่ใคร่ครวญธรรมโดยแยบคาย.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ทุกข์โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : คือ ปัจจัย โอกาส คติแห่งภพ วัฏฏะ.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ทุกข์โดยภาษาคน-ภาษาธรรม :

ภาษาคน : สิ่งที่น่ากลัว.

ภาษาธรรม : สิ่งที่ต้องต่อสู้เอาชนะให้ได้ ทำให้ว่างไป.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. กข กกา ของการศึกษาพุทธศาสนา

2. ธรรมะเล่มน้อย

3. อริยสัจจากพระโอษฐ์

4. อาสาฬหบูชาเทศนา เล่ม 1

5. โอสาเรตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง