[Font : 15 ]
| |
ค. ลักษณะแห่งผู้เจริญอินทรีย์ชั้นอริยะ |  

อานนท์ ! บุคคลผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว ในขั้นอริยะ (อริยภาวิตินฺทฺริย) เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ในกรณีนี้ ความพอใจ - ความไม่พอใจ - ความพอใจและไม่พอใจ เกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะเห็นรูปด้วยจักษุ …. ฟังเสียงด้วยโสตะ …. ดมกลิ่นด้วยฆานะ …. ลิ้มรสด้วยชิวหา …. ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยผิวกาย …. รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ. ภิกษุนั้น :-

ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ในสิ่งที่เป็นปฏิกูล (คือไม่น่าพอใจ หรือเป็นที่ตั้งของโทสะ) ดังนี้ เธอก็ อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งที่เป็นปฏิกูลนั้นได้.

ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าปฏิกูล ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล (คือไม่เป็นที่ตั้งแห่งโทสะ รังแต่จะเป็นที่ตั้งแห่งราคะ) ดังนี้ เธอก็ อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นได้.

ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ทั้งในสิ่งที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูล ดังนี้ เธอก็ อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่เป็นปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นได้.

ถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างมีความรู้สึกว่าปฏิกูล ทั้งในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งที่เป็นปฏิกูล ดังนี้ เธอก็ อยู่อย่างผู้มีความรู้สึกว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งที่เป็นปฏิกูลนั้นได้.

และถ้าเธอหวังว่า จะเป็นผู้อยู่อย่างเว้นขาดจากความรู้สึกว่าปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองอย่างเสีย แล้วอยู่อย่างผู้อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ ดังนี้ เธอก็ อยู่อย่างผู้อุเบกขามีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองอย่างนั้นได้.

อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่า บุคคลผู้มีอินทรีย์อันเจริญแล้ว ในขั้นอริยะ.

(ข้อนี้หมายถึงผู้เจริญอินทรีย์จนบังคับจิตได้ ในกรณีที่เกี่ยวกับความเป็นปฏิกูล ความไม่ปฏิกูล และความพ้นจากความหมายแห่งความเป็นปฏิกูลและไม่ปฏิกูล จึงสามารถบังคับจิต ควบคุมจิตไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย แต่อยู่ด้วยอุเบกขาได้ถึงที่สุด. เข้าใจว่า แม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็สามารถกระทำได้.

อนึ่ง ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็น ความหมายของคำว่าเสขะ จากข้อความในเรื่องข้างบน และ ความหมายของคำว่าอริยะ จากข้อความในเรื่องนี้, ว่าจะต่างกันอย่างไร).

อานนท์ ! ด้วยอาการอย่างนี้แล เป็นอันว่า อนุตตรอินทรียภาวนาในอริยวินัย เราแสดงแล้วแก่เธอ. เสขปาฏิบท เราก็แสดงแล้วแก่เธอ. อริยภาวิตินทริยะ เราก็แสดงแล้วแก่เธอ. อานนท์ ! กิจอันใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย ; กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย. อานนท์ ! นั่น โคนไม้ทั้งหลาย, นั่น เรือนว่างทั้งหลาย. อานนท์ ! พวกเธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส, อย่าได้ประมาท. พวกเธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย. นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.

- อุปริ. ม. 14/546 - 547/863 - 865.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง