[Font : 15 ]
| |
ลักษณะทั่วไปของความเป็นพระอรหันต์ |  

ความเร่าร้อน หมดความสุข ย่อมมีไม่ได้แก่ท่านผู้เดินสุดทางสายไกลแล้ว, มีไม่ได้แก่ผู้ไม่รู้จักเศร้าโศก, มีไม่ได้แก่ผู้ได้พ้นแล้วในทุก ๆ สิ่ง; และความเร่าร้อนหมดความสุข ย่อมมีไม่ได้แก่ผู้ละกิเลสเครื่องร้อยรัดได้แล้วทุกกรณี.

เหล่าท่านผู้มีสติสมบูรณ์ ย่อมส่งตนไปเสียได้ ไม่ติดใจยินดีในถิ่นที่อยู่ ละอาลัยและสิ่งที่ทำให้อาลัยเสียได้ ดุจหงส์โผบินละเปือกตมไปเสีย ฉะนั้น.

ท่านเหล่าใด ไม่มีการสั่งสม รู้จักการกินการอยู่ได้ดี มีความพ้นอย่างว่างกิเลสเป็นโคจร มีความพ้นอย่างไม่มีอะไรให้หมายได้เป็นโคจร. คติที่จะไปข้างหน้าของเหล่าท่านผู้เช่นนั้น ย่อมยากที่จะบอกให้รู้กันได้ เหมือนทิศทางไปในอากาศของเหล่านกทั้งหลายฉะนั้น.

ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ไม่มีเรื่องยุ่งเกี่ยวกับอาหาร มีความพ้นอย่างว่างกิเลสเป็นโคจร มีความพ้นอย่างไม่มีอะไรให้หมายได้ เป็นโคจร. เรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านนั้น ยากที่จะบอกให้รู้กันได้ เหมือนร่องรอยของบินในอากาศ ฉะนั้น.

อินทรีย์มีตาหูจมูกเป็นต้น ของท่านผู้ใด ไม่ทำพิษ คือสงบรำงับได้แล้ว เหมือนดั่งม้าที่สารถีเขาฝึกดีแล้ว แม้ปวงเทวาและมนุษย์ก็ยังนิยมชมชอบต่อท่านผู้นั้น ที่ท่านได้ละมานะแล้ว หาอาสวะกิเลสไม่ได้ ทั้งเป็นผู้คงที่อยู่.

ท่านเหล่าใด ไม่จำต้องเชื่อไปกับผู้อื่นเขา รู้แจ้งนิพพานอันอะไรปรุงแต่งให้แปรเปลี่ยนไม่ได้ เป็นผู้ตัดรอยต่อคือกิเลสที่จะต่อภพต่อชาติ เป็นผู้ยอมทำลายโอกาสที่จะมีเพื่อเอาอะไรอีก และเป็นผู้สิ้นหวัง. เหล่าท่านผู้เช่นนั้นแล เป็นอุดมบุรุษ.

- ธ. ขุ. 25/27/17.

ท่านผู้ใดเลิกข้องใจในเรื่องที่ว่า นี่ใช่ฝั่ง หรือไม่ใช่ฝั่ง หนอ ที่ว่าฝั่งนั้นอย่างไร ไม่ใช่นั้นอย่างไร หนอ ดังนี้, เป็นผู้ไม่กระวนกระวายใจได้แล้ว เป็นผู้พรากมาเสียจากกิเลสาสวะได้หมด ท่านผู้เช่นนั้นแล เราตถาคตเรียกว่า พราหมณ์แท้.

ความอาลัยของท่านผู้ใดไม่มีเสียแล้ว รู้ทั่วถึง มีปกติไม่ต้องถามคนอื่นว่าอะไรเป็นอย่างไรแล้ว, เป็นผู้หยั่งลงสู่อมตะ มีประโยชน์ตนอันถึงโดยลำดับแล้ว, เราตถาคตเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์แท้.

- ธ. ขุ. 25/67-70/36.

ท่านผู้ใดพิจารณาเห็นได้แล้ว ในสภาพที่มียิ่งและมีหย่อนในวิสัยโลก ไม่ได้ไหวหวั่นไปในอารมณ์ไหน ๆ ในโลกเลย, เป็นผู้รำงับสงบแล้ว ไม่มีกิเลสฟุ้งกลุ้มเหมือนควัน ไม่มีความทุกข์ความคับแค้นแล้ว เป็นผู้ไม่หวังอะไรแล้ว, เราตถาคตกล่าวผู้นั้น ว่าเป็นผู้ข้ามเสียได้ซึ่งความเกิดความแก่ ดังนี้.

- ติก. อํ. 20/169/471.

ท่านผู้ปฏิบัติจนเสร็จกิจในพรหมจรรย์แล้ว ไม่สะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ปราศจากตัณหาแล้ว หมดกิเลสที่จะรั้นเพื่อรักษามานะเสียแล้ว ตัดรอนความทุกข์เพียงดังลูกศรที่คอยทิ่มแทงในภพได้ ; สำหรับท่านผู้เช่นนี้ รูปกายนี้ชื่อว่าสิ้นสุดกันเพียงนี้ (เรือนร่างนี้มีในที่สุด).

- ธ. ขุ. 25/63ก/34.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง