[Font : 15 ]
| |
อตัมมยตา

1. พยัญชนะ : อตัมมยตาโดยพยัญชนะ : คือ ความไม่สำเร็จมาจากปัจจัยนั้นๆ.

2. อรรถะ : อตัมมยตาโดยอรรถะ : คือ ภาวะของจิตที่อะไรๆ ปรุงแต่งให้ผิดไปจากความถูกต้องไม่ได้ ; คือจับยึดไว้ก็ไม่ได้ ผลักไสไปก็ไม่ได้ ปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลงไปก็ไม่ได้จากความถูกต้อง เพื่อจะตั้งอยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลย.

3. ไวพจน์ : อตัมมยตาโดยไวพจน์ : คือ อรหัตตมรรค. วิราค, วิมุตติ, นิพพาน ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : อตัมมยตาโดยองค์ประกอบ :

1. ความเห็นตามที่เป็นจริง.

2. ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด.

3. ความสลัดคืน ไม่ยึดมั่นถือมั่น.

4. ความคงที่อย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป

5. ลักษณะ : อตัมมยตาโดยลักษณะ : คือ ไม่ถูกอะไรจับยึดไว้หรือปรุงแต่งได้ ; อยู่เหนืออำนาจความเป็นบวกเป็นลบ (เหนืออภิชฌาและโทมนัส) ; จึงอยู่เหนือชั่วเหนือดี เหนือบาปเหนือบุญ เหนือทุกข์เหนือสุข เหนืออกุศลเหนือกุศล เหนือโลกิยธรรมหรือสังขตธรรมทั้งปวง.

6. อาการ : อตัมมยตาโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 แห่งความไม่ตั้งอยู่ด้วยเหตุด้วยปัจจัย จึงไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย.

6.2 ไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งใด จีงไม่มีอาการแห่งความทุกข์.

7. ประเภท : อตัมมยตาโดยประเภท : มีประเภทตามลำดับชั้นที่นำไป เพื่อการละเสียซึ่งกามธาตุ รูปธาตุ อรูป ธาตุ ; จนกระทั่งเข้าถึงนิโรธธาตุ ; ซึ่งไม่ต้องมีการละอะไร.

สรุปความว่ามี 2 ประเภท :

7.1 ประเภทที่อยู่ในขั้นที่ถูกนำไปใช้ในการละ สิ่งต้องละตามลำดับ.

7.2 ประเภทสุดท้าย ซึ่งไม่ต้องมีการละอะไร.

8. กฎเกณฑ์ : อตัมมยตาโดยกฎเกณฑ์ : เป็นกฎชนิดกฎของธรรมชาติ (มิใช่มนุษย์บัญญัติขึ้น) ; และเป็นกฎฝ่ายอ สังขตะ หรือการนำไปสู่อสังขตะ ; หรือการนำไปสู่อสังขตะ ; หรือการทำลายเสียซึ่งอำนาจแห่งเหตุ ปัจจัยทั้งปวง ; จนเป็นอิสระจากเหตุปัจจัย.

9. สัจจะ : อตัมมยตาโดยสัจจะ : คือ ไม่มีภาวะแห่งความเป็นผู้ปรุงแต่ง หรือถูกปรุงแต่ง และไม่มีภาวะแห่งการปรุงแต่ง.

10. หน้าที่ : อตัมมยตาโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ของอตัมมยตา : ไม่มี.

10.2 หน้าที่ของมนุษย์ต่ออตัมมยตา : คือ ทำให้ปรากฏ หรือเข้าถึง จนเป็นอตัมมโย (คือมีอตัมมยตา).

11. อุปมา : อตัมมยตาโดยอุปมา : เปรียบเสมือนเพชร (ซึ่งถือกันว่า) ตัดอะไรได้ทุกอย่าง แต่ไม่มีอะไรตัดเพชรได้ ; หรือเพชรอีกนัยหนึ่ง ; ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนจำพวกไก่ จึงเป็นหมันสำหรับคนจำพวกนั้น.

12. สมุทัย : อตัมมยตาโดยสมุทัย : ไม่มี ; เพราะเป็นอสังขตะ.

13. อัตถังคมะ : อตัมมยตาโดยอัตถังคมะ : ไม่มี ; เพราะเป็นอสังขตะ.

14. อัสสาทะ : อตัมมยตาโดยอัสสาทะ : อัสสาทะของอตัมมยตาในขั้นสูงสุดไม่มี ; มีได้ก็แต่ในอตัมมยตาชั้นต้นๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อละเสีย ซึ่งกามธาตุ ; รูปธาตุ ; อรูปธาตุ : ซึ่งเมื่อละได้แล้วในแต่ละขั้น ย่อมมีอัสสาทะในแต่ละขั้นแห่งการละนั้น ; ซึ่งจะมีได้ สำหรับบุคคลผู้ยังมีความยึดถือ คือยังไม่มีอตัมมยตา ในขั้นสมบูรณ์หรือขั้นสุดท้าย.

15. อาทีนวะ : อตัมมยตาโดยอาทีนวะ : อาทีนวะของหรือจากอตัมมยตา ไม่มีเพราะเป็นอสังขตะ.

16. นิสสรณะ : อตัมมยตาโดยนิสสรณะ : อตัมมยตาเองเป็นนิสสรณะ เครื่องออกมาเสียจากอุปาทาน. (ไม่มี เหตุผลอะไรที่แสดงว่า เราต้องออกมาเสียจากอตัมมยตา) ดังนั้น นิสสรณะ จากอตัมมยตาจึงไม่มี.

17. ทางปฏิบัติ : อตัมมยตาโดยทางปฏิบัติ :

17.1 การเห็น 9 “ตา” คือเห็น :

อนิจจตา : ความไม่เที่ยง.

ทุกขตา : ความเป็นทุกข์.

อนัตตตา : ความเป็นของไม่ใช่ตน.

ธัมมัฏฐิตตา : ความตั้งอยู่ตามธรรมชาติของกฎธรรมดา.

ธัมมนิยามตา : ความเป็นไปตามกฎธรรมดา.

อิทัปปัจจยตา : ความมีและความเป็นไปตามปัจจัย.

สุญญตา : ความว่างจากตัวตน.

ตถาตา : ความเป็นเช่นนั้นเอง.

อตัมมยตา : ภาวะแห่งความเป็นอตัมมยตา.

17.2 การละจากกามธาตุ : เข้าสู่รูปธาตุ.

การละจากรูปธาตุ : เข้าสู่อรูปธาตุ.

การละจากอรูปธาตุ : เข้าสู่นิโรธธาตุ ; คือ การลุถึงอตัมมยตา.

18. อานิสงส์ : อตัมมยตาโดยอานิสงส์ : คือ การถึงการสิ้นสุดแห่งความทุกข์ (อนุปาทิเสสนิพพาน).

19. หนทางถลำ : อตัมมยตาโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความมีอตัมมยตา : คือ ตทังควิมุตติทุกชนิด.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อตัมมยตาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ในการเข้าถึงอตัมมยตา :

20.1 สมถะและวิปัสสนาที่เป็นไปเพื่อการละกามวัตถุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ.

20.2 การมีวิปัสสนาญาณไปตามลำดับ จนครบ 9 “ตา” ดังที่กล่าวแล้วในอรรถลักษณะข้อ 17 - ทางปฏิบัติ.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อตัมมยตาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : เป็นสิ่งที่เขาไม่เชื่อว่าอาจจะมีได้ จึงไม่มีคำพูดในภาษาคน.

ภาษาธรรม : เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงยิ่งกว่าจริง จึงมีพูดกันอยู่แต่ในภาษาธรรม.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. อตัมมยตาประยุกต์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง