[Font : 15 ]
| |
ลักษณะแห่งการถึงที่สุดทุกข์ |  

ภิกษุ ท.! อวิชชาภิกษุละได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลใด, ในกาลนั้น ภิกษุนั้น, เพราะความสำรอกออกโดยไม่เหลือแห่งอวิชชา เพราะการเกิดขึ้นแห่งวิชชา, เธอย่อม ไม่ปรุงแต่งซึ่งอภิสังขารอันเป็นบุญ; ย่อมไม่ปรุงแต่งซึ่ง อภิสังขารอันมิใช่บุญ; ย่อมไม่ปรุงแต่งซึ่ง อภิสังขารอันเป็นอเนญชา; เมื่อ ไม่ปรุงแต่ง อยู่, เมื่อ ไม่มุ่งมาดอยู่, เธอย่อม ไม่ถือมั่นสิ่งไร ๆ ในโลก; เมื่อไม่ถือมั่นอยู่, เธอย่อม ไม่สะดุ้งหวาดเสียว; เมื่อไม่สะดุ้งหวาดเสียวอยู่, เธอย่อม ปรินิพพานเฉพาะตนนั่นเทียว. เธอย่อมรู้ประจักษ์ว่า "ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์อันเราอยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว. กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก" ดังนี้.

ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็รู้ประจักษ์ว่า "เวทนานั้น ไม่เที่ยง อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว" ดังนี้. ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็รู้ประจักษ์ว่า "เวทนานั้น ไม่เที่ยง อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว" ดังนี้. ถ้าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ประจักษ์ว่า "เวทนานั้นไม่เที่ยง อันเราไม่สยบมัวเมาแล้ว อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว" ดังนี้. ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็เป็นผู้ประกาศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น.

ภิกษุนั้น เมื่อเสวย เวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า "เราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ" ดังนี้. เมื่อเธอนั้น เสวย เวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า "เราเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ" ดังนี้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ประจักษ์ว่า "เวทนาทั้งหลายทั้งหวง อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว จักเป็นของเย็น ในอัตตภาพนี้เอง; สรีระทั้งหลายจักเหลืออยู่ ; จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย" ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือน บุรุษยกหม้อที่ยังร้อนออกจากเตาเผาหม้อ วางไว้พื้นดินอันเรียบ ไออุ่นที่หม้อนั้นพึงระงับหายไป ในที่นั้นเอง กระเบื้องทั้งหลายก็เหลืออยู่ นี้ฉันใด; ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ประจักษว่า "เราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ" ดังนี้. เมื่อเธอนั้น เสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า "เราเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ" ดังนี้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ประจักษ์ว่า "เวทนาทั้งหลายทั้งปวง อันเราไม่เพลิดเพลินเฉพาะแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตตภาพนี้เอง; สรีระทั้งหลายจักเหลืออยู่ ; จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย" ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ; คือ ภิกษุผู้ขีณาสพ พึงปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร, หรือว่าพึงปรุงแต่ง อปุญญาภิสังขาร, หรือว่า พึงปรุงแต่ง อเนญชาภิสังขาร, บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อสังขารทั้งหลาย ไม่มี, เพราะความดับแห่งสังขาร โดยประการทั้งปวง, วิญญาณ พึงปรากฎ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อวิญญาณ ไม่มี, เพราะความดับแห่งวิญญาณ โดยประการทั้งปวง, นามรูป พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อนามรูป ไม่มี, เพราะความดับแห่งนามรูป โดยประการทั้งปวง, สฬายตนะ พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อสฬายตนะ ไม่มี, เพราะความดับแห่งสฬายตนะ โดยประการทั้งปวง, ผัสสะ พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อผัสสะ ไม่มี, เพราะความดับแห่งผัสส โดยประการทั้งปวง, เวทนา พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อเวทนา ไม่มี, เพราะความดับแห่งเวทนา โดยประการทั้งปวง, ตัณหา พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อตัณหา ไม่มี, เพราะความดับแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวง, อุปาทาน พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่ออุปาทาน ไม่มี, เพราะความดับแห่งอุปาทาน โดยประการทั้งปวง, ภพ พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อภพ ไม่มี, เพราะความดับแห่งภพ โดยประการทั้งปวง, ชาติ พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !"

เมื่อชาติ ไม่มี, เพราะความดับแห่งชาติ โดยประการทั้งปวง. ชรามรณะ พึงปรากฏ บ้างหรือหนอ? "ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า!"

ภิกษุุ ท.! ถูกแล้ว ถูกแล้ว. ภิกษุุ ท.! เธอทั้งหลาย จงทำความสำคัญ จงเชื่อซึ่งข้อนั้น ไว้อย่างนั้นเถิด. ภิกษุ ท.! เธอทั้งหลาย จงปลงซึ่งความเชื่อ ในข้อนั้นอย่างนั้นเถิด; จงเป็นผู้หมดความเคลือบแคลงสงสัยในข้อนั้นเถิด ; นั่นแหละที่สุดแห่งทุกข์ละ, ดังนี้แล

- นิทาน.สํ. 16/99-101/192-195.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง