[Font : 15 ]
| |
(สูตรที่ 10 : ขันธ์ 5)

(สูตรที่ 10 : ขันธ์ 5)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การเกิดโดยยิ่ง การปรากฎแห่งรูป (ขันธ์), อันใด ; อันนั้นเป็นการเกิดขึ้นแห่งทุกข์, เป็นการตั้งอยู่แห่งโรคทั้งหลาย, เป็นการปรากฏออกออกแห่งชราและมรณะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! และการดับไม่เหลือ การเข้าไปสงบระงับ การถึงซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูป (ขันธ์), อันใด; อันนั้น เป็น ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, เป็นการเข้าไปสงบระงับแห่งโรคทั้งหลาย, เป็นการถึงซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชราและมรณะ.

(ข้อความในกรณีแห่งรูป เป็นอย่างไร ข้อความในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อแห่งขันธ์แต่ละขันธ์เท่านั้น ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์มีรูปขันธ์เป็นต้น เพิ่งเกิดเป็นคราว ๆ ในเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ จนเกิดวิญญาณ ผัสสะ เวทนา เป็นลำดับๆ ไป จนกว่าจะเกิดทุกข์. ร่างกายในขณะนั้นโดยเฉพาะ เรียกว่ารูปขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, เวทนาในขณะนั้นเรียกว่า เวทนาขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, สัญญาหรือความสำคัญในขณะนั้น ซึ่งเรียกว่า สัญญาขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ความคิดต่างๆ ในขณะนั้น ชื่อว่า สังขารขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ความรู้สึกทางตาเป็นต้น ที่เรียกว่า จักขุวิญญาณเป็นต้น อันเกิดในระยะแรกนั้นก็ดี และความรู้แจ้งต่อความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในลำดับต่อมาก็ดี รวมเรียกว่า วิญญาณขันธ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน. อุปาทานขันธ์ 5 ประการ แต่ละอย่างๆ เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดมี ต่อเมื่อมีการกระทบทางอายตนะครั้งหนึ่งๆ แล้วก็ดับไป. อุปาทานในขันธ์แต่ละขันธ์ๆ นั้น ล้วนแต่ให้เกิดภพ เกิดชาติ ชรามรณะ กล่าวคือกองทุกข์ในที่สุด จึงกล่าวว่า การเกิดขันธ์แต่ละขันธ์ๆ เป็นการเกิดแห่งทุกข์, เป็นที่ตั้งอยู่แห่งโรคทั้งหลาย, เป็นที่ปรากฏแห่งชรา มรณะ โดยทำนองเดียวกัน.

ส่วนประกอบต่างๆ ทุกๆ หมวด ในสูตรทั้งสิบสูตรนี้ คือสิ่งที่พัวพันกันอยู่ ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ระยะใด ระยะหนึ่ง ส่วนใดส่วนหนึ่ง ; ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสให้มีลักษณะ อาการ ความหมาย ความเป็นเหตุ ความเป็นผล เหมือนกันทุกอย่าง ทั้ง 59 อย่าง ในสูตรทั้งสิบนี้.) - ผู้รวบรวม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ