[Font : 15 ]
| |
การต่อสู้ของผู้เกลียดกลัวความทุกข์ โดยละเอียด |  

ถ้าผาสุกธรรมใด ๆ มีอยู่ สำหรับผู้เกลียดต่อทุกข์ ผู้เสพที่นั่งนอนอันสงัด ใคร่จะตรัสรู้ธรรมตามที่เป็นจริง แล้วไซร้ เราจักบอกผาสุกธรรมนั้น ๆ แก่เธอ ตามที่เรารู้.

ภิกษุผู้ฉลาด พึงเป็นผู้มีสติ ประพฤติธรรมถึงที่สุดรอบด้าน ไม่พึงเกรงต่อภัย 5 อย่าง คือภัยจากเหลือบ สัตว์กัดต่อย สัตว์เสือกคลาน การกระทบของมนุษย์ และสัตว์ 4 เท้า.

ภิกษุนั้น ไม่พึงครั่นคร้าม ต่อชนเหล่าอื่นผู้มีธรรมเป็นปรปักษ์ แม้เห็นความน่ากลัวเป็นอันมากจากชนเหล่านั้น หรืออันตรายอย่างอื่น ๆ ก็แสวงหาซึ่งธรรมอันเป็นกุศล ครอบงำความกลัวเหล่านั้นเสียได้.

ถูกกระทบแล้วด้วยผัสสะแห่งโรค ความหิว ความหนาว ความร้อน ก็อดกลั้นได้. ผัสสะเหล่านั้นถูกต้องแล้ว มากมายเท่าไร ก็ยังไม่มีกิเลสท่วมทับใจ ยังคงบากบั่นกระทำความเพียรอยู่อย่างมั่นคง.

ไม่พึงกระทำการขโมย ไม่พึงกล่าวเท็จ พึงถูกต้องสัตว์ทั้งที่ยังสะดุ้งและมั่นคง ด้วยเมตตา. พึงรู้ชัดความขุ่นมัวแห่งใจ แล้วบรรเทาเสียด้วยคิดว่า นั่นเป็นธรรมฝ่ายดำ.

ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งความโกรธ และจองหอง พึงขุดรากแห่งกิเลสเหล่านั้น ดำรงตนอยู่ เป็นผู้ครอบงำเสียซึ่งอำนาจของสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักโดยตรง.

พึงเป็นผู้มีกัลยาณปีติ มุ่งปัญญาเป็นเบื้องหน้า ครอบงำเสียซึ่งอันตรายเหล่านั้น พึงข่มขี่ความไม่ยินดีในที่อยู่อันสงัด ข่มขี่ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งปริเทวะทั้งสี่อย่างเสีย คือปริเทวะว่า เราจักกินอะไร, จักได้กินที่ไหน, เมื่อคืนนอนเป็นทุกข์, คืนนี้จักนอนที่ไหน. วิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งปริเทวะเหล่านี้ เธอพึงนำออกเสีย เป็นเสขะไม่มีที่อยู่ที่อาศัยเที่ยวไปเถิด.

เมื่อได้อาหารและที่อยู่ในกาลอันสมควรแล้ว พึงเป็นผู้รู้ประมาณ เพื่อความเป็นผู้สันโดษในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คุ้มครองตนเป็นปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน แม้ถูกด่าก็ไม่กล่าวคำหยาบ.

พึงเป็นผู้ทอดสายตาต่ำ ไม่หลุกหลิกด้วยเท้า ตามประกอบอยู่ในฌาน เป็นผู้มากด้วยความตื่นอยู่ มีคนส่งไปในสมาธิ ปรารภอุเบกขา ตัดเสียซึ่งเหตุแห่งวิตกและธรรมเครื่องส่งเสริมกุกกุจจะ.

เมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือน ก็เป็นผู้มีสติยินดีรับคำตักเตือน พึงทำลายข้อขัดแย้ง (ขีล) ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย กล่าววาจาที่เป็นกุศล ไม่เกินขอบเขต ไม่ตริตรึกไปในทางที่จะว่ากล่าวผู้อื่น ; ต่อแต่นั้น พึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อนำออกเสียซึ่งธุลี 5 อย่างในโลก คือ ข่มขี่ซึ่งราคะ ในรูป ในเสียง ในรส ในกลิ่น ในผัสสะ ทั้งหลาย.

พึงนำออกซึ่งความพอใจในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น เป็นภิกษุ มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดี ใคร่ครวญอยู่ ซึ่งสัมมาธรรมะโดยกาลอันควร เป็นผู้มีธรรมอันเอก กำจัดความมืดเสียได้ แล.

- สุตฺต. ขุ. 25/521/423.

(ข้อปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรค อาจจะแยกแยะออกไปเป็นรายละเอียด ได้อย่างมากมาย ด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระสารีบุตรในที่นี้ กล่าวได้ว่า เป็นคำขยายความของอริยมรรคมีองค์แปดรวมกันได้เป็นอย่างดี จึงได้นำข้อความนี้มาใส่ไว้ในหมวดนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง