[Font : 15 ]
| |
ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล |  

ภิกษุ ท.! พวกเธอได้เห็น ท่อนไม้ใหญ่โน้น ซึ่งลอยมาโดยกระแสแม้น้ำคงคา หรือไม่ ?

"ได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า" ภิกษุทั้งหลายกราบทูล.

ภิกษุ ท.! ถ้าท่อนไม้นั้น จะไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งใน หรือฝั่งนอก, ไม่จมเสียในกลางน้ำ, ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่ผุเสียเองในภายในไซร้, ท่อนไม้เช่นที่กล่าวนี้ จักลอยไหลพุ่งไปสู่ทะเล เพราะเหตุว่า ลำแม่น้ำคงคาโน้มน้อม ลุ่มลาดเอียงเทไปสู่ทะเล. ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุ ท.! แม้พวกเธอทั้งหลายก็ฉันนั้น : ถ้าพวกเธอไม่เข้าไปติดเสียในฝั่งใน ไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งนอกหรือฝั่งนอก, ไม่จมเสียในท่ามกลาง, ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก, ไม่ถูกมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้, ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้, ไม่ผุเสียเองในภายในไซร้, พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน เพราะเหตุว่า สัมมาทิฏฐิมีธรรมดาที่โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเทไปสู่นิพพาน.

ครั้นสิ้นกระแสพระดำรัสแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! อะไรเล่า เป็นฝั่งใน หรือฝั่งนอก? อะไรชื่อว่าจมในท่ามกลาง? อะรชื่อว่าขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก? อะไรที่ถูกมนุษย์จับไว้? อะไรที่ถูกอมนุษย์จับไว้? อะไรชื่อว่าถูกเกลียวน้ำวนวนไว้? อะไรขื่อว่า เน่าเสียเองภายใน?"

ภิกษุ ท.! คำว่า "ฝั่งใน" เป็นชื่อของอายตนภายใน 6. คำว่า "ฝั่งนอก" เป็นชื่อของอายตนะภายนอก 6. คำว่า "จมเสียในท่ามกลาง" เป็นชื่อของ นันทิราคะ. คำว่า "ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก" เป็นชื่อของอัสมิมานะ (ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น). คำว่า "ถูกมนุษย์จับไว้" ได้แก่ ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ระคนด้วยพวกคฤหัสถ์ เพลิดเพลินด้วยกัน โศกเศร้าด้วยกัน, มีสุข เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นมีสุข, เป็นทุกข์ เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นทุกข์, ประกอบการงานในกิจการที่บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เหล่านั้นด้วยตน. ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้ถูกมนุษย์จับไว้. คำว่า "ถูกอมนุษย์จับไว้" ได้แก่ ภิกษุบางรูปในกรณีนี้ ประพฤติพรหมจรรย์โดยตั้งความปรารถนาเทพนิกายชั้นใดชั้นหนึ่ง ว่า "ด้วยศีลนี้ หรือด้วยวัตรนี้ หรือว่าด้วยตะบะนี้ เราจักได้เป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง" ดังนี้. ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกอมนุษย์จับไว้. คำว่า "ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้" เป็นชื่อของกามคุณ 5. ภิกษุเป็นผู้เน่าเสียเองในภายใน คืออย่างไรเล่า? คือภิกษุบางรูปในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่ลากมกไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเอง นึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิด ซ่อนเร้น ไม่ใช่ สมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาณว่าเป็นคนประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้เน่าเสียเองในภายในแล.

- บาลี พระพุทธภาษิต สฬา.สํ. 18/223/322, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เนื่องจากได้เห็นท่อนไม้ใหญ่ซึ่งกำลังลอยมา โดยกระแสแม่น้ำคงคาพัดส่ง.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง