[Font : 15 ]
| |
อนิจจัง

1. พยัญชนะ : อนิจจังโดยพยัญชนะ : คือ ไม่เที่ยง, ไม่แน่นอน, ไม่ตายตัว.

2. อรรถะ : อนิจจังโดยอรรถะ : คือ เปลี่ยนแปลงเรื่อยไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัยอยู่: เป็นโอกาสให้เกิดสิ่งใหม่เรื่อยไปอย่างไม่หยุดหย่อน; มีเฉพาะแก่สิ่งที่เป็นสังขตธรรม หรือสังขารธรรม; ไม่มีแก่อสังขตธรรม หรือวิสังขาร.

3. ไวพจน์ : อนิจจังโดยไวพจน์ : คือ อจีรํ, อนิตฺยํ, อตาทิ, อตถา ฯลฯ เปลี่ยนแปลง, ไหลเรื่อย, ไม่ตายตัว, ไม่แน่นอน ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : อนิจจังโดยองค์ประกอบ : คือ อาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่, ดับไป; เพราะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งซึ่งเป็นปัจจัย. สรุปความว่า ความมีปัจจัยและความต้องเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัย เป็นสององค์ประกอบของอนิจจัง.

5. ลักษณะ : อนิจจังโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 คือการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย อันเป็นที่ตั้งอาศัยในรูปแบบของการเกิดขึ้น, เสื่อมไป, ดับลง.

5.2 แห่งความน่าเอือมระอา สำหรับผู้ที่มีสติปัญญามองเห็นความจริงข้อนี้.

5.3 ทำให้หลงผิดว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างถาวรไม่ขาดสาย; จนเป็นที่ตั้งแห่งสัสสตทิฏฐิ คือ มีตัวตนถาวรในภายใน มีอาการเปลี่ยนแปลงเรื่อยในภายนอก; มีลักษณะแห่งความหลอกลวงให้คนหลง.

5.4 แห่งการบังคับให้เป็นของเที่ยงไม่ได้.

6. อาการ : อนิจจังโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 เปลี่ยนแปลงเรื่อย ; ซึ่งเป็นอาการของสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง.

6.2 แห่งความไม่เป็นตัวของตัวเอง ; นอกจากของปัจจัยที่ปรุงแต่ง.

6.3 หลอกให้คนโง่พอใจ หลงใหลไปตาม ; แต่ไม่อาจจะหลอกผู้รู้ ผู้มีปัญญา.

6.4 ที่กล่าวได้ว่า เป็นอาการประจำของสังขตธรรมทั้งปวง.

7. ประเภท : อนิจจังโดยประเภท : มีสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. อนิจจังที่น่ารัก เป็นที่ตั้งแห่งความเอร็ดอร่อยสวยงาม.

2. อนิจจังที่น่าเกลียด ใครๆ เห็น ก็สั่นหัว.

กลุ่มที่ 2 :

1. อนิจจังที่เปิดเผย คือ เห็นได้ง่าย.

2. อนิจจังที่เร้นลับ คือ ต้องสังเกตใคร่ครวญให้ลึกซึ้ง จึงจะเห็น.

8. กฎเกณฑ์ : อนิจจังโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 สังขตธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนิจจังโดยกฎของธรรมชาติ.

8.2 สิ่งที่เป็นอนิจจังต้องให้เกิดความทุกข์แก่บุคคลที่เข้าไปยึดถือ.

8.3 ถ้าไม่เห็นอนิจจัง ก็ไม่มีทางที่จะเห็นวิราคะ.

9. สัจจะ : อนิจจังโดยสัจจะ :

9.1 ความเป็นไปตามกฎของอนิจจัง มีอยู่ในทุกปรมาณูของจักรวาล.

9.2 แม้มันจะเป็นอนิจจัง ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่เป็นปัญหาอะไรแก่เรา.

9.3 ถ้าไม่เห็นอนิจจังอย่างเพียงพอ ก็ไม่อาจจะเห็นทุกขังและอนัตตาอย่างเพียงพอที่จะดับทุกข์ได้.

9.4 ความหมายของอนิจจัง มีขอบเขตแคบกว่าความหมายของคำว่าอนัตตา ; คือไม่สามารถครอบคลุมไปถึงอสังขตธรรมหรือวิสังขาร.

9.5 ธรรมชาติทุกอย่างรอบตัวเรา ทั้งแสดงอาการ และทั้งร้องบอกตลอดเวลาว่ามันเป็นอนิจจัง แต่มนุษย์ไม่มีตาและหู ที่จะเห็น และได้ยิน.

10. หน้าที่ : อนิจจังโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของอนิจจัง : ในฐานะเป็นกฎธรรมชาติ คือ บังคับให้สังขตธรรมทั้งหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยที่อาศัยอยู่.

10.2 หน้าที่ของมนุษย์ต่อกฎอนิจจัง :

1. การศึกษาให้รู้ แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ซึ่งเป็นอนิจจังให้เกิดทุกข์.

2. สอนยุวชนโดยเฉพาะ ให้รู้เรื่องอนิจจัง เพื่อไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะสิ่งนี้.

11. อุปมา : อนิจจังโดยอุปมา :

นัยที่ 1 : ในฐานะที่เป็นกฎ : อุปมาเหมือนพระเจ้าที่ปกครองโลก.

นัยที่ 2 : ในฐานะที่เป็นกิริยาอาการ : อุปมาเหมือนผีหลอกผีล้อ.

นัยที่ 3 : ในฐานะที่เป็นวัตถุ : อุปมาเหมือนของเทียม, ของปลอม หรือสิ่งพรางตา.

12. สมุทัย : อนิจจังโดยสมุทัย : คือ ความเป็นอนิจจังของสิ่งที่เป็นผล เกิดมาจากความเป็นอนิจจังของสิ่งที่เป็นเหตุ; ซึ่งเกิดมาจากความที่สังขตธาตุทั้งหลายตั้งอยู่ตามลำพังไม่ได้; ต้องอาศัยกันและกัน ปรุงแต่งกัน.

13. อัตถังคมะ : อนิจจังโดยอัตถังคมะ :

13.1 ดับไปเพราะขาดสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งอาการของอนิจจัง.

13.2 เมื่อเข้าถึงความว่าง หรือถึงนิโรธธาตุ.

14. อัสสาทะ : อนิจจังโดยอัสสาทะ :

14.1 ทำให้สามารถพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่และแก้ไขสิ่งเก่า.

14.2 ทำให้สามารถมีการสืบต่อแก่ปัจจัยของชีวิต.

15. อาทีนวะ : อนิจจังโดยอาทีนวะ : คือ ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์และปัญหา.

16. นิสสรณะ : อนิจจังโดยนิสสรณะ : ไม่มี มีแต่หนทางออกจากอำนาจของอนิจจัง คือ รู้จักความเป็นอนิจจัง จนไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นอนิจจัง; หรือการดำเนินตนอยู่ในอริยอัฏฐังคิกมรรค.

กล่าวโดยสรุปว่า การเห็นอนิจจังนั่นแหละ เป็นทางออกจากอนิจจัง.

17. ทางปฏิบัติ : อนิจจังโดยทางปฏิบัติ : เพื่อหมดปัญหาทั้งปวงเกี่ยวกับอนิจจัง ; คือ สมถะและวิปัสสนาจนเกิดญาณทัสสนะ หรือวิชชา จนไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นอนิจจัง.

18.อานิสงส์ : อนิจจังโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์ของอนิจจัง :

1. ทำให้โลกมีวิวัฒนาการ.

2. สามารถแก้ไขสิ่งเก่าและสร้างสรรค์สิ่งใหม่.

3. เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี เช่น การหายจากโรคภัยไข้เจ็บ.

4. ไม่ให้เกิดการเบื่อในสิ่งที่น่าเบื่อ.

18.2 อานิสงส์ของการเห็นอนิจจัง :

1. อนิจจังเป็นครูสอนอยู่ในตัวมันเองให้คนหายโง่; แม้จะเป็นการสอนที่เจ็บปวดสักหน่อย.

2. อนิจจังเป็นที่ตั้งแห่งสติปัญญา เครื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง.

3. ทำผู้เห็นให้บรรลุนิพพานไปตามลำดับ.

19. หนทางถลำ : อนิจจังโดยหนทางถลำ :

19.1 เข้าไปสู่ความเป็นทาสของสิ่งที่เป็นอนิจจัง : คือ เสน่ห์ของสิ่งที่เป็นอนิจจัง บวกกับความประมาทเลินเล่อของมนุษย์เอง.

19.2 ออกมาจากอำนาจของอนิจจัง : คือ การได้รับโทษเพราะความหลง ในสิ่งที่เป็นอนิจจังอย่างเพียงพอ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อนิจจังโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เพื่อการออกมาจากอำนาจของอนิจจัง : คือ การคบสัตบุรุษ, การศึกษา, ความไม่ประมาท, ความมีสติในการรับอารมณ์.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อนิจจังโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : คำพูดที่เอาไว้ขู่ หรือหลอกกันเล่น เด็กๆ ก็ไม่เชื่อ.

ภาษาธรรม : การบอกความจริงอันสูงสุด.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ไกวัลยธรรม

2. โอสาเรตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง