[Font : 15 ]
| |
ธาตุ

1. พยัญชนะ : ธาตุโดยพยัญชนะ : คือ สภาพที่มีการธำรงอยู่ ในลักษณะที่ทรงไว้ซึ่งตัวเองและสิ่งอื่น. (ธร-ธาตุ ในความหมายว่า “ทรง”).

2. อรรถะ : ธาตุโดยอรรถะ :

2.1 ส่วนประกอบสุดท้ายที่ไม่ควร หรือไม่อาจแบ่งแยกออกไปได้อีกต่อไป. .

2.2 ส่วนประกอบส่วนย่อย ที่จะประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งใหม่หรือส่วนใหญ่.

2.3 คุณลักษณะหรือคุณค่าเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เรียกว่า ธาตุ (ธาตุดี, ธาตุชั่ว, ธาตุรู้, วิชชาธาตุ, อวิชชาธาตุ, ธาตุตา, ธาตุหู, ธาตุรูป, ธาตุเสียง, ธาตุกลิ่น ฯลฯ กามธาตุ, รูปธาตุ, อรูปธาตุ, ธาตุว่าง, นิพพานธาตุ).

3. ไวพจน์ : ธาตุโดยไวพจน์ : คือ ธรรม, ธรรมชาติ.

4. องค์ประกอบ : ธาตุโดยองค์ประกอบ :

4.1 อสังขตธาตุไม่มีองค์ประกอบ. สังขตธาตุมีเหตุมีปัจจัย และองค์ประกอบใดๆ ตามสมควรแก่ธาตุนั้นๆ.

4.2 อีกปริยายหนึ่ง : ถือเอาโดยความหมายของคำคำนี้ ธาตุมีองค์ประกอบ คือธำรงอยู่ได้ หรือมีอยู่ได้โดยตัวมันเองหนึ่ง ; ทำหน้าที่ประกอบกันขึ้น เป็นสิ่งใหม่หนึ่ง ; เป็นไป หรือไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติของธาตุนั้นๆ หนึ่ง.

5. ลักษณะ : ธาตุโดยลักษณะ :

5.1 มีลักษณะทรงตัวเอง.

5.2 เป็นรากฐานของสิ่งทั้งปวง ในลักษณะเป็นเหตุปัจจัยก็มี; ในลักษณะควบคุมบังคับก็มี.

5.3 เป็นส่วนประกอบของสิ่งที่ต้องการส่วนประกอบ.

5.4 บางธาตุมีลักษณะไม่เที่ยง, เป็นทุกข์ ; บางธาตุไม่มีลักษณะอย่างนั้น. แต่ทุกธาตุมีลักษณะเป็นอนัตตา.

6. อาการ : ธาตุโดยอาการ : ธาตุแต่ละธาตุไม่มีอาการ. ต่อเมื่อมีการผสมกันจึงมีอาการแห่งการปรุงแต่งและเปลี่ยนแปลง เรียกว่าอาการของธาตุโดยปริยาย.

7. ประเภท : ธาตุโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. ธาตุที่รู้จักและศึกษากันอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบันมีแต่รูปธาตุ.

2. ธาตุที่ศึกษากันอยู่ในทางธรรม มีนามธาตุ (เรื่องทางจิตทางวิญญาณ).

กลุ่มที่ 2 :

1. สังขตธาตุ (มีปัจจัยปรุงแต่ง) บางทีก็เรียกว่าสังขารธาตุ.

2. อสังขตธาตุ (ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) บางทีก็เรียกว่าวิสังขารธาตุ.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

กลุ่มที่ 1:

1. รูปธาตุ.

2. นามธาตุ.

3. อัพยากตธาตุ (ธาตุที่กล่าวไม่ได้ว่าเป็น รูป หรือเป็นนาม เช่น นิพพานธาตุ เป็นต้น).

กลุ่มที่ 2 : อีกปริยายหนึ่ง :

1. รูปธาตุ (มีรูป).

2. อรูปธาตุ (ไม่มีรูป).

3. นิโรธธาตุ (เป็นที่ดับแห่งรูป และอรูป).

กลุ่มที่ 3 : อีกปริยายหนึ่ง :

1. กุศลธาตุ.

2. อกุศลธาตุ.

3. อัพยากตธาตุ (กล่าวไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล).

7.3 แบ่งโดยประเภท 4 :

1. กามธาตุ.

2. รูปธาตุ.

3. อรูปธาตุ.

4. นิโรธธาตุ.

8. กฏเกณฑ์ : ธาตุโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 ทุกสิ่งเป็นสักว่าธาตุ กล่าวคือ ความเป็นธาตุครอบงำสิ่งทั้งปวง ; จนทำให้กล่าวได้ว่า ทุกสิ่งเป็นธาตุตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่มิได้เป็นธาตุ ; แม้ที่สุดแต่ความว่างก็ยังเรียกว่า “สุญญตธาตุ” ธาตุแห่งความว่าง.

8.2 สังขตธาตุมีกฎเกณฑ์ในการที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยเป็นของใหม่อยู่เสมอ ; ส่วนอสังขตธาตุนั้นตรงกันข้าม.

8.3 มีธาตุพื้นฐานที่เป็นกลางบางธาตุ มีความหมายไม่แน่นอน; ต่อเมื่อมีธาตุอื่นมาประกอบ จึงมีความหมายแน่นอนขึ้นมา ; ตัวอย่างเช่น ธาตุรู้, จะรู้ผิดเป็นอวิชชาธาตุก็ได้ จะรู้ถูกเป็นวิชชาธาตุก็ได้ ยังมีอีกหลายธาตุที่มีลักษณะเช่นนี้.

8.4 การปรากฏแห่งสังขตธาตุไม่ว่าในลักษณะใดๆ เป็นการปรากฏแห่งทุกข์ ; แม้ที่สุดแต่การปรากฏแห่งสุขธาตุ (ความสุข).

9. สัจจะ : ธาตุโดยสัจจะ :

9.1 ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และไม่เป็นอนัตตา.

9.2 ธาตุแม้ธาตุเดียวกัน ก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นของผู้ไม่รู้ ; แต่เป็นที่ตั้งแห่งความปล่อยวางของผู้รู้ ; เป็นเช่นนี้ แม้กระทั่งนิพพานธาตุ.

9.3 ธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็นคนคนหนึ่ง มีหกธาตุเท่านั้น : คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ; แล้วก็เป็นที่ตั้งที่อาศัย ที่ปรากฏแห่งธาตุอีกมากมายเหลือที่จะนับ.

9.4 แม้มโนธาตุจะเป็นสิ่งที่รู้สึกสุขทุกข์ แต่ก็ต้องอาศัยรูปธาตุทั้งปวงเป็นที่ตั้งที่อาศัยที่ปรากฏ เพราะต้องทำงานร่วมกันทั้งมโนธาตุและรูปธาตุ.

9.5 ธาตุทั้ง 4 สำหรับจะประกอบกันเป็นรูปขันธ์ และวิญญาณธาตุสำหรับจะเป็นนามขันธ์ ; ส่วนธาตุอากาศเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งขันธ์เหล่านั้น.

9.6 อัตภาพคนเรานี้ บางเวลาเป็นเสมือนหนึ่งธาตุที่กองๆ รวมกันอยู่ ; แต่บางเวลาก็เป็นเสมือนหนึ่งสิ่งกายสิทธิ์ ปรุงแต่งหมุนจี๋ไปเลย.

9.7 ธาตุที่ยังไม่ถูกยึดถือ ก็ยังคงเป็นธาตุตามธรรมชาติ ; เมื่อถูกยึดถือเข้าก็กลายเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่งไป โดยไม่เห็นว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ.

9.9 ไม่มีผู้ใดทำอะไรแก่สิ่งใด นอกจากว่าธาตุกระทำต่อธาตุ. ผู้มองเห็นความจริงข้อนี้แล้วเท่านั้น จึงจะรู้สึกเช่นนั้นและพูดออกมาว่า “ธาตุกินธาตุ” เป็นต้น. (มตินี้ต้องระวังให้ดี เพราะอาจนำไปใช้ฝ่ายมิจฉาทิฏฐิประกอบกรรมอันชั่วหยาบ แล้วถือว่า ไม่มีบาปก็ได้).

9.9 เมื่อธาตุทำหน้าที่ตามหน้าที่ของมัน สิ่งที่เรียกว่าการปรุง (สังขาร) ก็เกิดขึ้น: จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า อายตนะบ้าง ขันธ์บ้าง.

9.10 ธรรมธาตุฝ่ายอสังขตะที่มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ มีความหมายแห่งความเป็นพระเจ้า.

9.11 สิ่งที่มีชีวิตย่อมคบหากันตามธาตุแห่งจิตใจที่ตรงกัน : เช่น อริยชนA29 ย่อมคบหากันแต่อริยชน, สัตบุรุษคบหากันแต่สัตบุรุษ, อันธพาลย่อมคบหากันแต่อันธพาล.

9.12 บรรดาธาตุแม้จะเป็นธาตุเดิม ธาตุแรก แล้วปรุงแต่งกันเป็นของใหม่ขึ้นมา ก็ยังเป็นธาตุอยู่อย่างเดิม : แม้จะดับไปแล้ว ก็ยังคงเป็นธาตุอยู่นั่นเอง คือเป็น ธาตุดับ หรือ ธาตุว่าง.

9.13 คำว่า “ธาตุ” เป็นคำพูดที่ประหลาดที่สุด; ที่หมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ; และแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ความเต็มตามความหมายของคำๆ นี้.

10. หน้าที่ : ธาตุโดยหน้าที่ (โดยสมมติ) : มีเฉพาะฝ่ายสังขตธาตุ คือ ผสมและปรุงแต่งกันเพื่อให้เกิดของใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด.

11. อุปมา : ธาตุโดยอุปมา :

11.1 เหมือนส่วนประกอบต่างๆ ที่มนุษย์ใช้ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง.

11.2 เหมือนรากฐานรองรับสิ่งต่างๆ ทั้งในระดับพื้นฐานทั่วไป และระดับลึกสุดตามความหมายของคำว่า “ธาตุ” (ทรงไว้ซึ่งตัวเอง และสิ่งอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง).

12. สมุทัย : ธาตุโดยสมุทัย :

12.1 อสังขตธาตุไม่มีสมุทัย.

12.2 สังขตธาตุมีเหตุปัจจัยของธาตุนั้นๆ และความต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติเป็นสมุทัย. ถ้าเป็นเรื่องความต้องการของมนุษย์ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ก็มีความต้องการของมนุษย์เป็นสมุทัย.

13. อัตถังคมะ : ธาตุโดยอัตถังคมะ :

13.1 อสังขตธาตุ ไม่มีอัตถังคมะ.

13.2 สังขตธาตุก็มีความเปลี่ยนแปลง หรือความดับของเหตุปัจจัยนั้นๆ ตามคราว เป็นอัตถังคมะ.

14. อัสสาทะ : ธาตุโดยอัสสาทะ : มีแก่ผู้ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน หรือยินดีในธาตุนั้น ๆด้วยนันทิราคะ ซึ่งต้องมีอวิชชาเป็นปัจจัย.

15. อาทีนวะ : ธาตุโดยอาทีนวะ : สำหรับอสังขตธาตุไม่มี. สำหรับสังขตธาตุนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นแห่งธาตุ คือ การเกิดขึ้นแห่งทุกข์ : เพราะทำให้เกิดการปรุงแต่ง อันนำมาซึ่งปัญหายุ่งยากอีกมากมาย.

16. นิสสรณะ : ธาตุโดยนิสสรณะ : การออกจากธาตุนั้นไม่มี ; มีแต่การออกจากทุกข์ ซึ่งมีธาตุเป็นมูลเหตุ : คือการเห็นแจ้งธาตุโดยความเป็นธาตุปราศจากความหมายแห่งตัวตน.

17. ทางปฏิบัติ : ธาตุโดยทางปฏิบัติ : เพื่ออยู่เหนือปัญหาและอันตรายจากธาตุ : คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ที่ความมีสติ, ปัญญา, สัมปชัญญะอันเพียงพอ; เมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับธาตุ.

18. อานิสงส์ : ธาตุโดยอานิสงส์ : อานิสงส์จากธาตุโดยตรงไม่มี ; มีแต่จากการปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับธาตุ : จนสามารถบริโภค คือ มีหรือใช้สิ่งต่างๆ โดยไม่กัดเจ้าของ (ไม่เกิดทุกข์เพราะสิ่งนั้นๆ).

19. หนทางถลำ : ธาตุโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความหมดปัญหาอันเกี่ยวกับสังขตธาตุ : คือความสันโดษ ความเป็นอยู่อย่างมัธยัสถ์A30 (พอดี) ; เพราะการเป็นอยู่อย่างนี้มีแต่การโน้มเอียงไปทางพระนิพพาน หรือ อสังขตธาตุ ซึ่งไม่มีทางที่จะเกิดปัญหา.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ธาตุโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เพื่อการอยู่เหนือการปรุงแต่งของธาตุ :

20.1 ความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ธาตุ.

20.2 การปฏิบัติที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับความรู้นั้นๆ.

20.3 การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรู้ และการปฏิบัติที่ถูกต้องและเพียงพอนั้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ธาตุโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : กระดูกของคนที่ตายแล้ว เผาแล้ว.

ภาษาธรรม : สิ่งที่เป็นที่ตั้งสำหรับปุถุชนได้ยึดถือเอาเป็นตัวตน.

21.2 ภาษาคน : แร่ธาตุตามธรรมชาติ

ภาษาธรรม : คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้ธาตุนั้นๆ ได้ชื่ออย่างนั้นๆ.

21.3 ภาษาคน : ปรากฏการณ์ทางรูปธรรมของธาตุนั้น.

ภาษาธรรม : สิ่งที่ยึดถือเอาเป็นตัวตนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวตนของธาตุนั้นหรือตัวตนของใคร.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. กข กกา ของการศึกษาพุทธศาสนา

2. ธรรมะเล่มน้อย

3. ปรมัตถสภาวธรรม

4. โมกขธรรมประยุกต์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง