[Font : 15 ]
| |
วิมุตติ

1. พยัญชนะ : วิมุตติโดยพยัญชนะ : คือ ความหลุดพ้นวิเศษ ; ความหลุดพ้นสิ้นเชิง.

2. อรรถะ : วิมุตติโดยอรรถะ :

2.1 หลุดพ้นจากกิเลส จากความทุกข์.

2.2 หลุดพ้นจากการปรุงแต่ง.

2.3 หลุดพ้นจากปัญหาและเครื่องผูกมัดทั้งปวง.

3. ไวพจน์ : วิมุตติโดยไวพจน์ : คือ โมกข, อนุปาทาน, สุทธิ, วิสุทธิ, อนาลย, นิโรธ, นิพพาน.

4. องค์ประกอบ : วิมุตติโดยองค์ประกอบ :

1. ความเห็นแจ้ง.

2. ความคลายกำหนัดหรือคลายจากอุปาทาน (วิราคธรรม).

3. ความปล่อยวาง.

4. ความออกไป.

5. ความเป็นอิสระ.

5. ลักษณะ : วิมุตติโดยลักษณะ : มีลักษณะตามองค์ประกอบ : คือ จางคลาย, ปล่อยวาง, ว่าง, อิสระ, สงบเย็น.

6. อาการ : วิมุตติโดยอาการ :

6.1 สสัดทิ้ง.

6.2 ไม่ยึดมั่น.

6.3 ไม่น้อมไป (สู่อารมณ์).

6.4 มีอาการเป็นผู้ชนะ (มิใช่ถอยหนี).

6.5 อยู่เหนือสังขารธรรมทั้งปวง.

7. ประเภท : วิมุตติโดยประเภท :

7.1 แบ่งตามลักษณะของการปฏิบัติ :

1. วิมุตติที่มีกำลังสมาธิออกหน้าของพวกสมถยานิก : มีสมถะเป็นยานพาหนะ ; เรียกว่า เจโตวิมุตติ.

2. ปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นด้วยอำนาจปัญญา ; เป็นเบื้องหน้าของพวกวิปัสสนายานิก.

(โดยแท้จริงแล้ว : การหลุดพ้นต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนา คือ ทั้งเจโตและปัญญาร่วมกัน ; หากแต่ว่ามีส่วนไหนออกหน้าก็ให้ชื่อตามชื่อของส่วนนั้น).

7.2 แบ่งตามน้ำหนักหรือคุณค่า :

1. ตทังควิมุตติ : หลุดพ้นโดยอารมณ์ของวิปัสสนาเฉพาะอย่าง ; มีลักษณะเป็นการบังเอิญ.

2. วิกขัมภนวิมุตติ : หลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจของสมาธิที่เกิดจากการปฏิบัติ ; มีลักษณะเป็นการข่มไว้ด้วยสมาธินั้น.

(ทั้งตทังควิมุตติและวิกขัมภนวิมุตติ มีลักษณะเป็นการหลุดพ้นที่ไม่สมบูรณ์).

3. สมุจเฉทวิมุตติ : เป็นการหลุดพ้นโดยการตัดต้นเหตุของกิเลสได้เด็ดขาดด้วยมรรคญาณ ; เป็นการหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง.

8. กฎเกณฑ์ : วิมุตติโดยกฎเกณฑ์ : มาจากความเห็นแจ้ง, ความเบื่อหน่าย, ความคลายกำหนัด ; แล้วนำไปสู่ความบริสุทธิ์, ความสงบเย็น, ความเป็นอิสระและนิพพาน.

9. สัจจะ : วิมุตติโดยสัจจะ :

9.1 เป็นอารมณ์ของการแสวงหาขั้นสุดท้าย.

9.2 เป็นไวพจน์ของนิพพาน คือ เป็นอายตนะที่จิตสัมผัสได้.

9.3 ปรากฏต่อเมื่อปราศจากความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง.

9.4 เป็นสัมมัตตะ (ภาวะหลุดพ้น) องค์สุดท้าย แห่งสัมมัตตะทั้งปวง.

9.5 แต่ก็มิได้มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนหรือของตน ดังเช่นในลัทธิอื่นที่ตรงกันข้าม.

10. หน้าที่ : วิมุตติโดยหน้าที่ : มีหน้าที่ (โดยสมมติ) : ปลดปล่อยปวงสัตว์.

11. อุปมา : วิมุตติโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 แก่นของต้นไม้ (พรหมจรรย์).

11.2 วัคซีนป้องกันโรคทางวิญญาณอย่างสารพัดนึก ครอบจักรวาล.

11.3 ทะเลที่ไม่มีคลื่นเพราะปราศจากลม.

11.4 อากาศอันว่าง และไม่มีขอบเขต เป็นอิสระ.

11.5 การหลุดพ้นจากคุกแห่งชีวิตทุกชนิด (คุกสุดท้ายคือตัวตน).

12. สมุทัย : วิมุตติโดยสมุทัย :

นัยที่ 1 : โดยกว้างๆ ทั่วไป : ในความหมายที่หลวมๆ เรียกว่า อนุปาทาน คือ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น.

นัยที่ 2 : โดยความหมายเฉพาะ : เรียกว่า วิราคะ : แปลว่า ความจางคลายแห่งอุปาทาน.

นัยที่ 3 : โดยลักษณะแห่งปฏิจจสมุปบาท : มีลำดับว่า ยถาภูตญาณ - นิพพิทา - วิราคะ - วิมุตติ.

นัยที่ 4 : ความสิ้นไปแห่งตัณหา : ก็กล่าวได้ว่าเป็นสมุทัยแห่งวิมุตติ.

13. อัตถังคมะ : วิมุตติโดยอัตถังคมะ : คือ เมื่อเสร็จหน้าที่แล้วทั้งโดยปริยายและนิปปริยายแล้วเกิดญาณทัสสนะว่าวิมุตติแล้ว.

14. อัสสาทะ : วิมุตติโดยอัสสาทะ : มีได้เพราะความพอใจยินดีในผลของวิมุตติ เฉพาะผู้ที่ยังมีอัสสาทะ ; เรียกว่า ธัมมัสสาทะ หรือธัมมนันทิ ; แต่มิใช่ในตัววิมุตติเอง.

15. อาทีนวะ : วิมุตติโดยอาทีนวะ : ไม่มี.

16. นิสสรณะ : วิมุตติโดยนิสสรณะ : ไม่มีสำหรับสัมมาวิมุตติ. มีเฉพาะมิจฉาวิมุตติ ซึ่งต้องออกโดยอริยมรรคมีองค์ 8.

17. ทางปฏิบัติ : วิมุตติโดยทางปฏิบัติ : เพื่อถึงวิมุตติ :

17.1 อริยอัฏฐังคิกมรรค.

17.2 ญาณทั้งหมดในวิปัสสนา มีอนัตตตานุปัสสนาญาณ เป็นต้น.

18. อานิสงส์ : วิมุตติโดยอานิสงส์ :

18.1 หลุดพ้นจากกองทุกข์.

18.2 หลุดพ้นจากวัฏฏะ.

18.3 หลุดพ้นจากกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท หรือจากกระแสแห่งการปรุงแต่ง.

18.4 หายจากโรคทั้งทางกาย, ทางจิต, ทางวิญญาณ.

19. หนทางถลำ : วิมุตติโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่การมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าวิมุตติ : คือ คบสัตบุรุษหรือพระอริยเจ้าเป็นกัลยาณมิตร.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : วิมุตติโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : คือ ความไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ หรืออายตนะ.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : วิมุตติโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : หลุดพ้นจากความผูกพันทางวัตถุ.

ภาษาธรรม : หลุดพ้นจากความผูกพันทางจิตทางวิญญาณ.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์

2. ฟ้าสางฯ ตอน 1

3. สันติภาพของโลก

4. อาสาฬหบูชาเทศนา เล่ม 1


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง