[Font : 15 ]
| |
อุปมาการฝึกช้างศึก ด้วยการฝึกตนของอริยสาวก |  

ภิกษุ ท.! ช้างต้นประกอบด้วยคุณสมบัติ 4 สมควรแก่พระราชาจะใช้สอย จัดได้ว่าเป็นอังคาพยพ (ส่วนประกอบแห่งองค์) ของพระราชา.4 อย่าง อย่างไรเล่า ? ในกรณีนี้ 4 อย่างคือ ช้างต้น เป็นช้างรู้ฟัง รู้ประหาร รู้อดทน รู้ไป.

ภิกษุ ท.! ช้างต้นที่รู้ฟัง เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ช้างต้นในกรณีนี้, ควาญช้างสั่งให้ทำการอันใดที่เคยทำหรือไม่เคยทำก็ตาม, ย่อมทำในใจอย่างทั่วถึง รวบรวมจิตทั้งหมดมาเงี่ยโสตคอยสดับ. อย่างนี้แล เรียกว่า ช้างต้นที่รู้ฟัง.

ภิกษุ ท.! ช้างต้นที่รู้ประหาร เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ช้างต้นในกรณีนี้ เข้าสู่สงครามแล้ว ย่อมประหารช้างบ้าง ผู้อยู่บนหลังช้างบ้าง ประหารม้าบ้าง ประหารผู้อยู่บนหลังม้าบ้าง ย่อมประหารรถบ้าง คนประจำรถบ้าง ย่อมประหารพลเดินเท้าบ้าง, อย่างนี้แล เรียกว่า ช้างต้นที่รู้ประหาร.

ภิกษุ ท.! ช้างต้นที่รู้อดทน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ช้างต้นในกรณีนี้ เข้าสู่สงครามแล้ว อดทนต่อการประหารด้วยหอก ด้วยดาบ ด้วยลูกศร อดทนต่อเสียงกึกก้องแห่งกลอง บัณเทาะว์ สังข์ และมหรทึก. อย่างนี้แล เรียกว่า ช้างต้นที่รู้อดทน.

ภิกษุ ท.! ช้างต้น ที่รู้ไป เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ช้างต้นในกรณีนี้, ควาญช้างจะส่งไปสู่ทิศใดที่เคยไปหรือไม่เคยไปก็ตาม, ย่อมไปสู่ทิศนั้นได้โดยพลัน. อย่างนี้แล เรียกว่า ช้างต้นที่รู้ไป.

ภิกษุ ท.! ช้างต้นประกอบด้วยคุณสมบัติ 4 อย่าง เหล่านี้แล สมควรแก่พระราชาจะใช้สอย จัดได้ว่าเป็นอังคาพยพของพระราชา.

ภิกษุุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุุประกอบด้้วยคุุณธรรม 4 ประการ ย่อมเป็นอาหุเนยยบุคคล ปาหุเนยบุคคล ทักขิเณยบุคคล อัญชลีกรณียบุคคล และเป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า. คุณธรรม 4 ประการ อย่างไรเล่า ? 4 ประการในกรณีนี้ คือ ภิกษุเป็นผู้รู้ฟัง รู้ประหาร รู้อดทน และรู้ไป.

ภิกษุ ท.! ภิกษุที่รู้ฟัง เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้, เมื่อธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว อันบุคคลแสดงอยู่. ย่อมทำในใจอย่างทั่วถึง รวบรวมจิตทั้งหมดมาเงี่ยโสตคอยสดับ ฟังธรรมอยู่. อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้ฟัง.

ภิกษุ ท.! ภิกษุุที่รู้ประหาร เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมไม่อยู่เฉย ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมกระทำให้สิ้นไป ย่อมกระทำให้ไม่มี ซึ่งกามวิตก …. พยาปาทวิตก …. วิหิงสาวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว; ย่อมไม่อยู่เฉย ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมกระทำให้สิ้นไป ย่อมกระทำให้ไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย อันเกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นแล้ว. อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้ประหาร.

ภิกษุ ท.! ภิกษุที่รู้อดทน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อคลองแห่งถ้อยคำอันหยาบคาย ร้ายกาจ เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นต่อเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ราวกะว่าจะนำไปเสียซึ่งลมปราณ. อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้อดทน.

ภิกษุ ท.! ภิกษุุที่รู้ไป เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้, ทิศใดอันเธอไม่เคยไป ตลอดกาลยาวนานถึงเพียงนี้ กล่าวคือนิพพาน อันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ปราศจากความกำหนัด เป็นที่ดับโดยไม่เหลือ, เธอเป็นผู้ไปสู่ทิศนั้นได้โดยพลันนั่นเทียว. อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุที่รู้ไป.

ภิกษุ ท.! ภิกษุประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นอาหุเนยยบุคคล ปาหุเนยยบุคคล ทักขิเณยยบุคคล อัญชลีกรณียบุคคล และเป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

- จตุกฺก. อํ. 21/156-158/114.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง