[Font : 15 ]
| |
ประการที่ 4 |  

ภิกษุ ท.! ถ้าแม้ภิกษุนั้น ไม่ระลึกถึง ไม่กระทำไว้ในใจซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้นอยู่อย่างนี้ อกุศลวิตกอันเป็นบาป ซึ่งประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง ก็ยังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นอยู่นั่นเอง ดังนี้แล้วไซร์, ภิกษุนั้น พึงกระทำในใจซึ่งรูปพรรณสัณฐานแห่งการปรุงแต่งแห่งวิตก ของอกุศลวิตกทั้งหลายเหล่านั้น. เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่งรูปพรรณสัณฐานแห่งการปรุงแต่งแห่งวิตก ของอกุศลวิตกทั้งหลายเหล่านั้นอยู่, อกุศลวิตกอันเป็นบาปที่ประกอบอยู่ด้วยฉันทะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เหล่านั้นย่อมละไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้. เพราะละเสียได้ซึ่งอกุศลวิตกเหล่านั้น จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ ในภายในนั่นเทียว.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนบุรุษเดินเร็วๆ แล้วฉุกคิดว่า เราจะเดินเร็วๆ ไปทำไม เดินค่อยๆ ดีกว่า เขาก็เดินค่อยๆ แล้วฉุกคิดว่า จะเดินค่อยๆ ไปทำไม ยืนเสียดีกว่า เขาก็ยืน แล้วฉุกคิดว่า จะยืนไปทำไม นั่งลงเสียดีกว่า เขาก็นั่งลง แล้วฉุกคิดว่า จะนั่งอยู่ทำไม นอนเสียดีกว่า เขาก็นอน : ภิกษุ ท.! อย่างนี้แหละที่บุรุษนั้นเปลี่ยนอิริยาบถหยาบๆ มาเป็นอิริยาบทละเอียดๆ นี้ฉันใด; ภิกษุ ท.! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (ที่ภิกษุนั้น พิจารณารูปพรรณสัณฐานแห่งการปรุงแต่งแห่งวิตกไปตามลำดับๆ ).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง