[Font : 15 ]
| |
ทรงอยู่ด้วยสุญญตาวิหารแม้ใจขณะแห่งธรรมกถา |  

อานนท์! ก็วิหารธรรมนี้แล เราตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะ (ตรัสรู้) แล้วในที่เป็นที่ตรัสรู้นั้น; นั่นคือ ตถาคตเข้าถึงแล้วแลอยู่ ซึ่งสุญญตาวิหารอันเป็นภายใจ เพราะไม่กระทำในใจซึ่งนิมิต (ภายนอก) ทั้งปวง.

อานนท์! ในขณะนั้นที่ตถาคตอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ ถ้ามีผู้เข้ามาหา เป็นภิกษุบ้าง ภิกษุณีบ้าง อุบาสกบ้าง อุบาสิกาบ้าง ราชาบ้าง ราชอำมาตย์บ้าง เดียรถีย์บ้าง สาวกของเดียรถีย์บ้าง; อานนท์! ในกรณีนั้น ตถาคตมีจิตที่ยังคงน้อมอยู่ในวิเวก โน้มอยู่ในวิเวกแนบแน่นอยู่ในวิเวก อยู่นั่นเอง เป็นจิตหลีกออกจากโลกิยธรรม ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ เกลี้ยงเกลาแล้วจากอาสวัฎฐานิยธรรมโดยประการทั้งปวง กระทำซึ่งกถาอันเนื่องเฉพาะด้วยการชี้ชวนในการออก (จากทุกข์) โดยส่วนเดียวเท่านั้น.

อานนท์! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ ถ้ามีภิกษุปรารถนาว่า "เราพึงเข้าถึงสุญญตาวิหารอันเป็นภายใน แล้วแลอยู่. ดังนี้ไซร้; อานนท์! ภิกษุนั้นพึงกระทำจิตในภายในนั่นแหละ ให้เป็นจิตตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นจิตหยุดพักให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตตั้งมั่น.

หมายเหตุ : ขอให้สังเกตให้เห็นว่า แม้เมื่อจิตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร คือไม่กำหนดนิมิตหรืออารมณ์ภายนอกทั้งปวง จิตรู้สึกอยู่ในรสของพระนิพพาน; โดยไม่ต้องสูญเสียความรู้สึกเช่น นั้นไปจากจิต ปากก็ยังพูดเรื่องราวที่เคยพูดมาจนชินได้ โดยเฉพาะในกรณีนี้ คือเรื่องแห่งความดับทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องที่แจ่มแจ้งและเคยชินสำหรับพระองค์อย่างถึงที่สุดนั่นเอง ปากจึงทำการพูดออกไปได้ด้วยจิตใต้สำนึกที่เคยชินต่อเรื่องนั้น โดยที่จิตไม่ต้องหยุดจากการดื่มรสของสุญญตาวิหารแม้ในขั้นที่เป็นปรมานุตตรสุญญตา (ซึ่งมีอธิบายอยู่ที่หน้า 376 บรรทัดที่ 3 ไป (จากบรรทัดเลขหน้า) แห่งหนังสือเล่มนี้) ของพระองค์ราวกะว่ามีจิต 2 จิตหรือ 2 ชั้นทำงานร่วมกัน. จะยุกติเป็นอย่างไร ขอฝากท่านผู้คงแก่การปฎิบัติธรรม วินิจฉัยดูด้วยตนเองเถิด. -ผู้รวบรวม.

- บาลี มหาสุญญตสูตร อุปริ. ม. 14/236/346. ตรัสแก่พระอานนท์ มีฆฎายศากยวิหาร.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง