[Font : 15 ]
| |
สังขาร

1. พยัญชนะ : สังขารโดยพยัญชนะ : คือ กระทำพร้อม คือ ปรุง.

2. อรรถะ : สังขารโดยอรรถะ : มี 3 อย่าง : คือ ความหมายแห่งผู้ปรุง, สิ่งที่ถูกปรุง, การปรุง ; ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคำว่าสังขาร.

3 .ไวพจน์ : สังขารโดยไวพจน์ : คือ สังกร, สังขต.

4. องค์ประกอบ : สังขารโดยองค์ประกอบ :

1. โดยหลักใหญ่ : มีผู้ปรุง, สิ่งที่ถูกปรุง : เช่น ความอยาก.

2. โดยหลักย่อย :

1 .มีผู้ปรุง และปัจจัยแห่งผู้ปรุง : เช่น ความอยาก.

2. มีสิ่งที่ถูกปรุง และปัจจัยแห่งสิ่งที่ถูกปรุง : เช่น ธาตุทั้งหลาย

3. มีการปรุง และปัจจัยแห่งการปรุง: เช่น อำนาจหรือความเป็นไปได้แห่งการปรุง.

5. ลักษณะ : สังขารโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา.

5.2 ปิดบังความจริง.

5.3 ปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใหม่.

5.4 แห่งการเกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป, อย่างไม่มีที่สิ้นสุด.

6. อาการ : สังขารโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 ของปฏิจจสมุปบาท.

6.2 แห่งวัฏฏะ คือ : เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไปๆๆ.

6.3 แห่งความไม่สงบ.

6.4 ทั้งฝ่ายวิวัฒนาการ และวินาศนาการ.

7. ประเภท : สังขารโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสาม :

กลุ่มที่ 1 : จำแนกตามฐานที่ตั้ง :

1. กายสังขาร : ให้เกิดการกระทำทางกาย.

2. วจีสังขาร : ให้เกิดการกระทำทางวาจา.

3. มโนสังขาร : ให้เกิดการกระทำทางใจ.

กลุ่มที่ 2 : แบ่งตามคุณค่า :

1. ปุญญาภิสังขาร : ปรุงแต่งบุญ.

2. อปุญญาภิสังขาร : ปรุงแต่งสิ่งมิใช่บุญ.

3. อเนญชาภิสังขาร : ปรุงแต่งความไม่หวั่นไหวไปตามบุญและอบุญ ; แต่ยังไม่ถึงขั้นนิพพานโดยสมบูรณ์.

7.2 แบ่งโดยประเภทสอง : จำแนกโดยสภาวธรรมชาติ :

1. นามธรรม (จิตใจ).

2. รูปธรรม (วัตถุและกาย).

8. กฏเกณฑ์ : สังขารโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 ขึ้นชื่อว่าสังขารต้องมีเหตุมีปัจจัย และเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย.

8.2 สังขารที่ปรุงมาจากอวิชชาเป็นไปเพื่อทุกข์.

8.3 ขึ้นชื่อว่าสังขารต้องมีน้ำหนักในตัว ; ตรงกันข้ามกับวิสังขาร ซึ่งไม่มีน้ำหนัก.

8.4 สังขารมีมิติ (เครื่องกำหนด) ; วิสังขารไม่มีมิติ.

9. สัจจะ : สังขารโดยสัจจะ :

9.1 ถ้ามีปัจจัยปรุงแต่ง และต้องเป็นไปตามอำนาจปัจจัยแล้ว เรียกว่าสังขารทั้งสิ้น ; ต่อเมื่อตรงกันข้าม จึงจะเรียกว่าวิสังขาร (มิใช่สังขาร).

9.2 ถ้าเป็นสังขารแล้วก็ต้องไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา.

9.3 จักรวาลทั้งปวง เป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง ของสิ่งที่เรียกว่าสังขาร.

9.4 อาการปรุงแต่งของสังขารทั้งหลาย จนตลอดสาย เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท.

9.5 สังขารที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์ในชีวิตประจำวัน มีอยู่ในนามของสิ่งที่ เรียกว่า ขันธ์ 5, อายตนะ 6.

9.6 สังขารสิ้นสุดลงเมื่อหมดเหตุหมดปัจจัย และสิ้นสุดแห่งการปรุง ; เรียกว่าความสงบแห่งสังขาร หรือความปรากฏแห่งวิสังขาร.

9.7 การกระทำกรรมก็ดี, การรับผลกรรมก็ดี, มีได้โดยสังขารและแก่สังขาร ; ทั้งที่เป็นอนัตตา.

9.8 สังขารที่ไม่ถูกยึดถือ ก็คือเบญจขันธ์ที่ไม่ถูกยึดถือ หรือขันธ์ล้วนๆ ; ก็ยังไม่เป็นทุกข์. สังขารที่ถูกยึดถือ ก็คือเบญจขันธ์ที่ถูกยึดถือ หรืออุปทานขันธ์ ก็จ้องเป็นทุกข์.

9.9 ขึ้นชื่อว่าสังขาร ต้องอยู่ภายใต้อำนาจแห่งกฏของการปรุงแต่งตลอดเวลา ; ไม่มีทางที่จะเป็นอิสระ.

9.10 สังขารตั้งต้นปรุงแต่งกันเมื่อไร และหยุดปรุงแต่งกันเมื่อไร เป็นสิ่งที่สังขาร (ที่สมมติเรียกกันว่าบุคคล) นั้นเอง ก็ยังรู้จักได้ยากหรือถึงกับไม่รู้จักเสียเลย.

9.11 สังขารทั้งหลายเป็นตัวละคร ที่แสดงบทบาทของธรรมชาติฝ่ายสังขตะอยู่ทุกอย่างทุกประการ และตลอดเวลา.

9.12 ชีวิตก็ดี, นามรูปก็ดี,อารมณ์, เวทนา,อายุ,กรรม, และผลกรรมก็ดี ฯลฯ; ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสังขาร หรือสิ่งปรุงแต่งชั่วคราว.

10. หน้าที่ : สังขารโดยหน้าที่ (โดยสมมติ) :

10.1 ปรุงแต่ง : ให้เกิดผู้ปรุงแต่ง, สิ่งถูกปรุงแต่ง, และการปรุงแต่ง.

10.2 ปรุงแต่งวัฏฏะ : ทั้งในความหมายที่เป็นการข้ามภพข้ามชาติ และไม่ข้ามภพ ข้ามชาติอย่างไม่หยุดหย่อน.

10.3 ทำสิ่งทุกสิ่งไม่ให้คงอยู่ในสภาพเดิม.

10.4 ปรุงแต่งวิญญาณธาตุ ให้เป็นวิญญาณทางอายตนะ.

11. อุปมา : สังขารโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ผู้ปั้นหม้อ, หม้อ, การปั้นหม้อ.

11.2 นายช่างสร้างเรือน, เรือน, การสร้างเรือน.

12. สมุทัย : สังขารโดยสมุทัย :

12.1 อวิชชา.

12.2 ความต้องการ (ตัณหา).

12.3 กฎแห่งวิวัฒนาการปัจจัยแห่งสังขารทางวัตถุ.

13. อัตถังคมะ : สังขารโดยอัตถังคมะ คือ :

13.1 ความดับแห่งอวิชชา.

13.2 สังขารที่เรียกโดยชื่ออื่น จะมีกี่ชนิดหรือกี่สิบชนิดก็ตาม จะดับไป เพราะการดับแห่งเหตุของมัน.

13.3 ความดับแห่งความต้องการ.

13.4 ความสิ้นสุดแห่งวิวัฒนาการ.

13.5 ความขาดปัจจัยแห่งสังขาร.

13.6 ความดับไปตามธรรมดาของสิ่งที่เป็นสังขตธรรม.

14. อัสสาทะ : สังขารโดยอัสสาทะ :

14.1 ทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาได้ตามความต้องการ ทั้งทางวัตถุ และทางจิต.

14.2 สามารถให้เป็นบันไดนำไปสู่วิสังขาร (นิพพาน).

15. อาทีนวะ : สังขารโดยอาทีนวะ :

15.1 สังขาร เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง.

15.2 สังขาร (คือการตกอยู่ใต้อำนาจของสังขาร) เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ; ไม่ว่าเป็นสังขารประเภทไหน.

15.3 ขึ้นชื่อว่าสังขารย่อมกัดเจ้าของ (ผู้เข้าไปยึดถือว่าตัวตน หรือของตน) อย่างไม่เลือกหน้า.

16. นิสสรณะ : สังขารโดยนิสสรณะ :

นัยที่ 1 : บุคคลไม่ต้องออกจากสังขาร เพียงแต่ออกจากอำนาจของสังขาร : คืออาศัยสังขารฝ่ายวิชชา เพื่อออกมาเสียจากอำนาจของสังขารฝ่ายอวิชชา. (การปฏิบัติธรรม เช่น อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นสังขารฝ่ายวิชชา ; เพื่ออกมาเสียจากทุกข์ ซึ่งเป็นสังขารอวิชชา) นี้เรียกว่าอาศัยสังขาร ออกจากอำนาจของสังขาร; ทำนองหนามยอกหนามบ่ง.

นัยที่ 2 : บุคคลไม่พึงเห็นว่าสังขารเป็นอกุศล (บาปหรือชั่ว) โดยส่วนเดียว : เป็นกุศลก็มี ; เป็นอัพยากฤตก็มี ; เป็นตัวปัญหาเสียเองก็ได้ ; เป็นตัวแก้ปัญหาให้แก่กันและกันก็ได้ ; นี้คือสังขาร เป็นนิสสรณะแก่สังขาร.

17.ทางปฏิบัติ : สังขารโดยทางปฏบัติ : เพื่อออกจากอำนาจของสังขาร :

17.1 การศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสังขาร, โดยถูกต้องและสิ้นเชิง ว่ามีกี่อย่าง แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่อะไร.

17.2 การมีสติควบคุมไม่ให่เกิดสังขารฝ่ายอวิชชา (การปรุงแต่ง) ; ในขณะที่มีการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ.

17.3 การดำเนินชีวิตอยู่ด้วยอริยอัฏฐังติกมรรคนั้นแหละ เป็นการควบคุมสังขาร, การใช้สังขารฝ่ายวิชชา แก้ปัญหาทั้งหลายของสังขารทั้งหลายฝ่ายอวิชชา อยู่อย่างครบถ้วน.

18. อานิสงส์ : สังขารโดยอานิสงส์ :

18.1 ช่วยให้เกิดชีวิตและการสืบต่อแห่งชีวิตอยู่ได้; นั้นคือ ให้กิดกระแสแห่งวิวัฒนาการของจักรวาล.

18.2 สังขารฝ่ายวิชามีอานิสงส์ ในหารแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยว กับสังขารฝ่ายอวิชชา ; มนุษย์จึงรอดอยู่ได้.

19. หนทางถลำ : สังขารโดยหนทางถลำ :

19.1 เข้าไปสู่อำนาจของสังขาร : คือ อวิชชา และความประมาท.

19.2 ออกจากอำนาจของสังขาร : คือ วิชชา และความไม่ประมาท ; หรือเรียกว่า การเป็นอยู่โดยอริยอัฏฐังคิกมรรค.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : สังขารโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 เพื่อมีความง่ายในการตกอยู่ใต้อำนาจของสังขาร : คือความหลงใหลมัวเมา จนตกเป็นทาสของอัสสาทะแห่งสังขารนั่นเอง.

20.2 เพื่อมีความง่ายในการออกจากอำนาจของสังขาร : คือ ความรู้เท่าทันจนไม่หลงใหลบูชาในอัสสาทะของสังขารทั้งหลาย แม้สิ่งที่เรียกว่ามหากุศล.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : สังขารโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : ร่างกาย.

ภาษาธรรม : การปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใหม่.

21.2 ภาษาคน : สิ่งที่น่ารักน่าถนอม.

ภาษาธรรม : สิ่งที่ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1.ธรรมบรรยายต่อหางสุนัข

2. ธรรมะเล่มน้อย

3. ฟ้าสางๆ ตอน 1


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง