[Font : 15 ]
| |
เบญจพิธพรที่ทรงระบุไว้สำหรับภิกษุ (ไม่เกี่ยวกับตัณหาเหมือนจตุพิธพรของชาวบ้าน) |  

ภิกษุ ท. ! เมื่อพวกเธอเที่ยวไปในโคจรอันเป็นวิสัยแห่งบิดาตน ก็จักเจริญแม้ด้วยอายุ แม้ด้วยวรรณะ แม้ด้วยสุขะ แม้ด้วยโภคะ แม้ด้วยพละ.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นความหมายในคำว่า อายุสำหรับภิกษุ ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุย่อม เจริญอิทธิบาท อันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยฉันทะเป็นปธานกิจ; ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัย วิริยะ เป็นปธานกิจ; ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัย จิตตะ เป็นปธานกิจ; ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัย วิมังสา เป็นปธานกิจ. (กิจในที่นี้ คือ กิจเกี่ยวกับ การระวัง, การละ, การทำให้เกิดมี, และการรักษา). ภิกษุนั้น, เพราะเจริญกระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาท 4 ประการเหล่านี้, เมื่อหวังอยู่ ก็จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดเวลากัปป์หนึ่งหรือเกินกว่ากัปป์. ภิกษุ ท. ! นี้แล เป็นความหมายในคำว่า อายุ สำหรับ ภิกษุ.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นความหมายในคำว่า วรรณะ สำหรับภิกษุ ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมแล้วด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้เป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! นี้แล เป็นความหมายในคำว่า วรรณะ สำหรับภิกษุ.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นความหมายในคำว่า สุข สำหรับภิกษุ ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุ เข้าถึงปฐมฌาน... ทุติยฌาน....ตติยฌาน....จตุตถฌาน.... แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้แล เป็นความหมายในคำว่า สุขสำหรับภิกษุ.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นความหมายในคำว่า โภคะ สำหรับภิกษุ ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุ มีจิตประกอบด้วยเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา, แผ่ไปยังทิศที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ และด้านขวาง แผ่ไปยังโลกทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวง ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา, ชนิดที่ไพบูลย์ ถึงความเป็นจิตใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้แล เป็นความหมายในคำว่า โภคะ สำหรับภิกษุ.

ภิกษุ ท. ! อะไรเล่า เป็นความหมายในคำว่า พละ สำหรับภิกษุ ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่.ภิกษุ ท. ! นี้แล เป็นความหมายในคำว่า พละ สำหรับภิกษุ.

-ปา. ที. 11/85/50.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง