[Font : 15 ]
| |
ปฏิจจสมุปบาทจะมีได้แก่ทารกเฉพาะที่โตขึ้นถึงขนาดรู้สึกยึดถือในเวทนา

ปฏิจจสมุปบาทจะมีได้แก่ทารกเฉพาะที่โตขึ้นถึงขนาดรู้สึกยึดถือในเวทนาPTC65

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะการประจวบพร้อมแห่งปัจจัย 3 ประการ ; การก้าวลงสู่ครรภ์ ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ย่อมมีขึ้น. ในกรณีนี้คือ แม้มารดาบิดาอยู่ร่วมกันแต่มารดาไม่มีระดู ทั้งคันธัพพะ (สัตว์ที่จะปฏิสนธิในครรภ์) ก็ยังมิได้เข้าไปตั้งอยู่ เฉพาะแล้ว การก้าวลงสู่ครรภ์ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ในกรณีนี้แม้มารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย มารดาก็มีระดูด้วย แต่คันธัพพะยังไม่เข้าไปยู่เฉพาะแล้วด้วย ; การก้าวลงสู่ครรภ์ของสัตว์เกิดในครรภ์ ก็ยังมีไม่ได้ก่อน อยู่นั่นเอง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! แต่ในกาลใด มารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย, มารดามีระดูด้วย, คันธัพพะเข้าไปตั้งอยู่เฉพาะแล้วด้วย ; การก้าวลงสู่ครรภ์ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ย่อมมีเพราะการประจวบพร้อมแห่งปัจจัย 3 ประการ ด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! มารดาย่อมบริหารซึ่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์นั้น ด้วยท้อง. ตลอดเวลา 9 เดือนบ้าง 10 เดือนบ้าง ; ด้วความวิตกกังวลอันใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! มารดาย่อมคลองซึ่งทารกนั้น โดยกาลอันล่วงไป 9 เดือนบ้าง 10 เดือนบ้าง ; ด้วยความวิตกกังวลอันใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก, เลี้ยงแล้ว ซึ่งทารกอันเป็นผู้เกิดแล้วนั้น ด้วยโลหิตแห่งตน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในอริยวินัย สิ่งที่เรียกว่า “โลหิต” นั้น หมายถึง น้ำนมแห่งมารดา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กุมารนั้น อาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว เล่นอยู่ด้วยของเล่นสำหรับทารก กล่าวคือ เล่นไถน้อยๆ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นของเล่นชื่อโมกขจิกะPTC66 เล่นกังหันลมน้อยๆ เล่นตวงทรายด้วยใบไม้ เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กุมารนั้น อาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว เป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณ 5 ให้เขาบำเรออยู่ทางตา ด้วยรูปทั้งหลาย ; ทางหู ด้วยเสียงทั้งหลาย ; ทางจมูก ด้วยกลิ่นทั้งหลาย ; ทางลิ้น ด้วยรสทั้งหลาย ; และทางกาย ด้วยสัมผัส ทางผิวหนังทั้งหลาย ; ล้วนแต่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีภาวะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด นำมาซึ่งความรัก.

กุมารนั้น ครั้นเห็นรูปด้วยตาแล้ว.., ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว... ; รู้สึกกลิ่นด้วยจมูกแล้ว... ; ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว... ; ถูกต้องสัมผัสทางผิวหนังด้วยผิวกายแล้ว... ; รู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจแล้ว; ย่อมกำหนัดยินดี ในรูปและเสียงเป็นต้น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ; ย่อมขัดเคือง ในรูปและเสียงเป็นต้น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความชัง. กุมารนั้น ย่อมมีจิตใจด้อยด้วยคุณธรรม ; อยู่โดยปราศจากสติอันเข้าไปตั้งไว้ในกายด้วย; ย่อมไม่รู้ชัดตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลายด้วย.

กุมารนั้น เมื่อประกอบด้วยความยินดีและความยินร้ายอยู่เช่นนี้แล้ว เสวยอยู่ ซึ่งเวทนาใดๆ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม เขาย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนานั้นๆ, เมื่อเป็นผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนานั้นๆ, นันทิ (กำหนัดยินดีที่ได้ตามอยาก) ย่อมบังเกิดขึ้น, นันทิใดเป็นไปในเวทนาทั้งหลาย, นันทินั้น คืออุปาทาน ; เพราะอุปาทานของกุมารนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ แล.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตใจความสำคัญที่สุดจากพระพุทธภาษิตนี้ไว้ 2 ประการคือ เด็กโตพอที่จะรู้จักยึดมั่นในเวทนา จึงจะเกิดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ด้วยอำนาจแห่งอวิชชา ในจิตใจเด็กนั้นได้, นี้อย่างหนึ่ง ; อีกอย่างหนึ่ง ข้อความตอนท้าย แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าสิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ดี, ชาติ ก็ดี, เพิ่งเกิดมีเมื่อตอนยึดมั่นในเวทนานั้นๆ ; หาใช่มีเมื่อเด็กคลอดจากท้องแม่ เหมือนดังที่เข้าใจกันอยู่ในภาษาคนธรรมดาพูดไม่, ดังนั้น คำพูดในภาษาปฏิจจสมุปบาทนี้ตรัสไว้โดยภาษาธรรมแท้ : ภพ ชาติ มีทุกคราวที่ยึดมั่นในเวทนา. ชรามรณะ มีได้แม้แก่เด็กๆ เพราะมีความหมายในภาษาธรรมอีกนั่นเอง, ได้แก่ปัญหาหนักใจต่างๆ ที่เกิดมาจาก “ความหมาย” ของคำว่า “แก่ - ตาย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ใจได้จริง, เป็นความแก่ หรือความตายที่ถูกยึดถือ ให้มามีอำนาจเหนือจิตใจของเขา. เมื่อผู้ศึกษาเข้าใจความจริงอันลึกซึ้งนี้แล้ว การศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็มีทางที่จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น. ขอให้สนใจทบทวนเป็นพิเศษ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ