[Font : 15 ]
| |
อวิชชา

1. พยัญชนะ : อวิชชาโดยพยัญชนะ : คือ ไม่มีวิชชา.

2. อรรถะ : อวิชชาโดยอรรถะ :

2.1 ความปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง.

2.2 ความไม่รู้เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์.

2.3 สิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้ หรือไม่ต้องรู้.

3. ไวพจน์ : อวิชชาโดยไวพจน์ : คือ อญาณะ, อัญญาณะ, มิจฉาญาณะ, โมหะ, มทะ, ปมาทะ, มิจฉาทิฏฐิ ; ความมืดทางวิญญาณ.

4. องค์ประกอบ : อวิชชาโดยองค์ประกอบ :

1. การปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง.

2. โอกาสที่จะเกิด (ความมีอยู่แห่งนิวรณ์).

3. อาหารของอวิชชา (นิวรณ์).

4. มิจฉาทิฏฐิ.

5. ภาวะที่พร้อมแล้วที่จะให้เกิดความทุกข์.

5. ลักษณะ : อวิชชาโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 ความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้.

5.2 ปิดบังความจริง.

5.3 เป็นความมืด (แต่เป็นความมืดสีขาว คือ หลอกลวง).

5.4 เป็นเครื่องห่อหุ้มที่ทั้งหนาและแข็ง.

5.5 ห่อหุ้มโลก จนแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง.

5.6 เป็นความมืด ที่ยิ่งกว่าตาบอด.

6. อาการ : อวิชชาโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 ปิดบังความจริง.

6.2 หลอกลวงให้หลง.

6.3 ห่อหุ้มให้หมดหนทางไป.

6.4 มีอาการเหมือนมีฝ้าหนาอยู่ในดวงตา.

7. ประเภท : อวิชชาโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภท 1 : คือ ความไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท.

7.2 แบ่งโดยประเภท 2 :

1. อวิชชาที่เป็นธาตุตามธรรมชาติ.

2. อวิชชาที่ปรุงขึ้นเป็นเจตสิกธรรมในจิตมนุษย์.

7.3 แบ่งโดยประเภท 3 :

1. ไม่รู้อดีต.

2. ไม่รู้อนาคต.

3. ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต.

7.4 แบ่งโดยประเภท 4 : คือ ไม่รู้อริยสัจ 4 ได้แก่ : ไม่รู้ทุกข์, ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์, ไม่รู้ความดับทุกข์, ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์.

8. กฎเกณฑ์ : อวิชชาโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 อวิชชาเป็นสังขารธรรม ที่มีการเกิดดับ เหมือนสังขารธรรมทั้งหลาย.

8.2 อวิชชาเกิดได้เฉพาะแก่จิต ที่ไม่ได้รับการอบรมให้มีสติ.

8.3 อวิชชามีการเกิดดับไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย.

8.4 เมื่อโมหะเกิดซ้ำๆ ซากๆ ก็จะสะสมสิ่งที่เรียกว่า อวิชชานุสัย ให้หนาแน่น และให้ง่ายต่อการเกิดอวิชชาสืบไป.

9. สัจจะ : อวิชชาโดยสัจจะ :

9.1 เป็นจุดตั้งต้นของปฏิจจสมุปบาท.

9.2 เป็นต้นเหตุของสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวง. (อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา).

9.3 อวิชชาคือสิ่งหุ้มห่อจิตใจสัตว์ หรือโลก (อวิชฺชาย นิวุโต โลโก).

9.4 อวิชชาเป็นสิ่งสุดท้าย (สังโยชน์ข้อสุดท้าย) ที่ต้องตัดด้วยอรหัตตมรรค.

9.5 หมดอวิชชา จิตก็เข้าถึงความว่างนิรันดร.

10. หน้าที่ : อวิชชาโดยหน้าที่ (โดยสมมติ) :

10.1 ปรุงแต่งสังขารธรรมทั้งปวง.

10.2 ปิดบังความจริงของสิ่งทั้งปวง.

10.3 ตั้งต้นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท.

10.4 หลอกลวงสัตว์โลกให้หลง.

11. อุปมา : อวิชชาโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 เปลือกหนาที่หุ้มโลกทั้งหมด.

11.2 ราตรีของความมืดทางวิญญาณ.

11.3 คนตาบอด.

11.4 ความหลับนิรันดร.

11.5 ลิ่มสลัก (สกรูนอตที่ขันสัตว์ให้ติดอยู่กับวัฏฏะ).

12. สมุทัย : อวิชชาโดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยของอวิชชาปัจจุบันคือ : อวิชชาสวะ ซึ่งมาจากอวิชชานุสัยที่สะสมไว้โดยโมหะ ในชีวิตประจำวัน.

12.2 พอเผลอสติในขณะแห่งผัสสะ อวิชชาสวะก็ไหลออกมา ทำหน้าที่เป็นอวิชชาปัจจุบัน ในกรณีนั้นๆ.

13. อัตถังคมะ : อวิชชาโดยอัตถังคมะ :

13.1 เมื่อมีสติปัญญา มีวิชชา ในขณะผัสสะในกรณีหนึ่งๆ อวิชชาก็ไม่เกิด.

13.2 สติปัญญา วิชชา ที่เกิดขึ้นในขณะแห่งอวิชชาเกิด แล้วจะสามารถดับอวิชชานั้นได้.

14. อัสสาทะ : อวิชชาโดยอัสสาทะ : คือ ความไม่รู้ว่าเป็นอวิชชา แล้วก็หลงใหลไปตามความเพลิดเพลินที่อวิชชามอบให้ แล้วก็ยิ่งชอบอวิชชามากขึ้น และยิ่งมีอวิชชามากก็ยิ่งพอใจ.

15. อาทีนวะ : อวิชชาโดยอาทีนวะ :

15.1 เป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ และการท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร.

15.2 อวิชชาทำให้มีอุปาทานในขันธ์ 5.

15.3 อวิชชาทำให้ไม่รู้อริยสัจ 4.

15.4 อวิชชาทำให้เกิดสังขาร คือ การปรุงแต่งอันไม่มีที่สิ้นสุด.

16. นิสสรณะ : อวิชชาโดยนิสสรณะ :

16.1 มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา ; ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “ไตรสิกขา”.

16.2 ธรรมปฏิบัติทั้งหลายที่ทำให้เกิดวิชชา.

16.3 คบสัตบุรุษ.

17. ทางปฏิบัติ : อวิชชาโดยทางปฏิบัติ : เพื่อเข้าถึงอวิชชา : ไม่มี และไม่จำเป็นต้องมี.

18. อานิสงส์ : อวิชชาโดยอานิสงส์ : ไม่มีอะไร. นอกจากมีไว้เป็นบทเรียนสำหรับศึกษาเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุดในการดับทุกข์.

19. หนทางถลำ : อวิชชาโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความมีอวิชชา : คือ

19.1 คบอสัตบุรุษ ไม่ได้ฟังธรรม.

19.2 มีการศึกษาผิดๆ.

19.3 มีการเป็นอยู่อย่างสะเพร่า ปราศจากสติ.

19.4 หลงใหลบูชาในความเจริญทางวัตถุ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อวิชชาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

นัยที่ 1 : สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องในความเจริญของอวิชชา :

1. นิวรณ์ เป็นอาหารของอวิชชา.

2. ไสยศาสตร์ คือ ความไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผลที่ถูกต้อง.

นัยที่ 2 : สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องเพื่อทำลายอวิชชา :

1. การศึกษาที่ถูกต้องแก่การทำลายอวิชชา.

2. การคบสัตบุรุษหรือพระอริยเจ้า.

3. การไม่เพิ่มอาหารของอวิชชา ให้แก่อวิชชา.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อวิชชาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : ความโง่ทั่วไป.

ภาษาธรรม : ไม่มีความรู้ที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งการดับทุกข์.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมะเล่มน้อย

2. ฟ้าสางฯ ตอน 1

3. โมกขธรรมประยุกต์

4. อริยสัจจากพระโอษฐ์

5. อิทัปปัจจยตา


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง