[Font : 15 ]
| |
ฌาน (ที่มีสัญญา) ใช้เป็นฐานแห่งวิปัสสนาได้ลงตัวเอง |  

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ; เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง ; เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง ; เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง ; เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนะบ้าง ; เพราะอาศัยวิญญาณัญจายตนะบ้าง ; เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนะบ้าง ; เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง14.4.

ภิกษุ ท. ! คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุ ท. ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัย ปฐมฌาน บ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. ในปฐมฌานนั้น มีธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ที่กำลังทำหน้าที่อยู่) ; เธอนั้นตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น (ให้ยืมมา) เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรม (คือขันธ์ทั้งห้า) เหล่านั้น (อันประกอบด้วยลักษณะ 11 ประการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น) แล้วจึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุ (คือนิพพาน) ด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณมีปฐมฌานเป็นบาทนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะ ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ อนาคามีผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์มีในเบื้องต่ำห้าประการ และเพราะอำนาจแห่ง ธัมมราคะ ธัมมนันทิ (อันเกิดจากการกำหนดจิตในอมตธาตุ) นั้น ๆ นั่นเอง.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนนายขมังธนูหรือลูกมือของเขา ประกอบการฝึกอยู่กะรูปหุ่นคนที่ทำด้วยหญ้าบ้าง กะรูปหุ่นดินบ้าง ; สมัยต่อมา เขาก็เป็นนายขมังธนูผู้ยิงไกล ยิงเร็ว ทำลายหมู่พลอันใหญ่ได้. ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ (เธอนั้นกำหนดเบญจขันธ์โดยลักษณะ 11 ประการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น แล้วจึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุคือนิพพาน ถึงความสิ้นอาสวะเมื่อดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณมีปฐมฌานเป็นบาทนั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นอนาคามี เพราะมีธัมมราคะธัมมนันทิในนิพพานนั้น) ดังนี้. ภิกษุ ท. ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุ ท. ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว.

(ในกรณีแห่งการสิ้นอาสวะ เพราะอาศัย ทุติยฌาน บ้าง เพราะอาศัย ตติยฌาน บ้าง เพราะอาศัย จตุตถฌาน บ้าง ก็มีคำอธิบายที่ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งปฐมฌานข้างบนนี้ ทุกตัวอักษรทั้งในส่วนอุปไมยและส่วนอุปมา ผิดกันแต่ชื่อแห่งฌานเท่านั้น ผู้ศึกษาอาจจะกำหนดรู้ได้เอง โดยอาศัยข้อความที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ จะนำมาใส่ไว้เต็มตามข้อความนั้นก็ยืดยาวเกินไป จึงเว้นเสียสำหรับทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ; จะข้ามไปกล่าวถึงอรูปฌานในลำดับต่อไป :-)

ภิกษุ ท. ! คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุ ท. ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัย อากาสานัญจายตนะ บ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียได้โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา จึงเข้าถึง อากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่. ในอากาสานัญจายตนะนั้น มีธรรมคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ที่กำลังทำหน้าที่อยู่)14.5 ; เธอนั้น ตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น (ให้ยืมมา) เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรม (คือขันธ์เพียง 4) เหล่านั้น (อันประกอบด้วยลักษณะ 11 ประการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น) แล้วจึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุ (คือนิพพาน) ด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณมีอากาสานัญจายตนะเป็นบาทนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะ ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ อนาคามีผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์มีในเบื้องต่ำห้าประการ และเพราะอำนาจแห่ง ธัมมราคะ ธัมมนันทิ (อันเกิดจากการกำหนดจิตในอมตธาตุ) นั้น ๆ นั่นเอง.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนนายขมังธนู หรือลูกมือของเขา ประกอบการฝึกอยู่กะรูปหุ่นคนที่ทำด้วยหญ้าบ้าง กะรูปหุ่นดินบ้าง ; สมัยต่อมา เขาก็เป็นนายขมังธนูผู้ยิงไกล ยิงเร็ว ทำลายหมู่พลอันใหญ่ได้. ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียได้โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ทำไว้ในใจซึ่งนานัตตสัญญา จึงเข้าถึง อากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ แล้วแลอยู่. (เธอนั้นกำหนดขันธ์เพียง 4 14.6 ว่าขันธ์แต่ละขันธ์ประกอบด้วยลักษณะ 11 ประการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น แล้วน้อมจิตไปสู่อมตธาตุคือนิพพาน ถึงความสิ้นอาสวะเมื่อดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณมีอากาสานัญจายตนะเป็นบาทนั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นอนาคามี เพราะมีธัมมราคะ ธัมมนันทิในนิพพานนั้น) ดังนี้. ภิกษุ ท. ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุ ท. ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนะบ้าง” ดังนี้ นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว.

(ในกรณีแห่งการสิ้นอาสวะ เพราะอาศัย วิญญาณัญจายตนะ บ้าง เพราะอาศัย อากิญจัญญายตนะ บ้าง ก็มีคำอธิบายที่ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งอากาสานัญจายตนะข้างบนนี้ ทุกตัวอักษรทั้งในส่วนอุปไมยและส่วนอุปมา ผิดกันแต่ชื่อแห่งฌานเท่านั้น ผู้ศึกษาอาจจะกำหนดรู้ได้เอง โดยข้อความที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ จะนำมาใส่ไว้เต็มตามข้อความนั้นก็ยืดยาวเกินไป จึงเว้นเสียสำหรับวิญญาณัญจายตนะและอากิญจัญญายตนะ จนกระทั่งถึงคำว่า …. เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว อันเป็นคำสุดท้ายของข้อความในกรณีแห่งอากิญจัญญายตนะ. ครั้นตรัสข้อความในกรณีแห่งอากิญจัญญายตนะจบแล้ว ได้ตรัสข้อความ ต่อไปว่า :-)

ภิกษุ ท. ! ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล เป็นอันกล่าวได้ว่า สัญญาสมาบัติ มีประมาณเท่าใด อัญญาปฏิเวธ (การแทงตลอดอรหัตตผล)14.7 ก็มีประมาณเท่านั้น.

ภิกษุ ท. ! ส่วนว่า อายตนะอีก - ประการ กล่าวคือ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งอาศัยสัญญาสมาบัติ (7 ประการ) เหล่านั้น14.8 นั้นเรากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ฌายีภิกษุผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ฉลาดในการออกจากสมาบัติ จะพึงเข้าสมาบัติ ออกจากสมาบัติ แล้วกล่าวว่าเป็นอะไรได้เองโดยชอบ14.9 ดังนี้.

- นวก. อํ. 23/438 - 444/240.

(สำหรับหัวข้อเรื่องที่ว่า “ฌานที่มีสัญญานั้น ใช้เป็นฐานแห่งวิปัสสนาได้ในตัวเอง” ดังนี้ นั้น หมายความว่า ในฌานที่ยังมีสัญญาอยู่นั้น มีทางที่จะกำหนดขันธ์ตามที่ปรากฏอยู่ในฌานนั้น ว่ามีลักษณะ เช่นอนิจจลักษณะ เป็นต้น ซึ่งเมื่อกำหนดเข้าแล้ว ก็ย่อมเกิดวิปัสสนา. ส่วนฌานที่ไร้สัญญาคือเนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น ไม่มีทางที่จะกำหนดขันธ์โดยลักษณะใด ๆ เพราะความไม่มีสัญญานั่นเอง แต่อาจจะรู้จักผลสุดท้ายแห่งฌานนั้น ๆ ได้ ว่ามีอาสวะเหลืออยู่หรือหาไม่).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง