[Font : 15 ]
| |
การสนทนากับปริพพาชก ชื่อ มัณฑิยะและชาลิยะ |  

มหาลิ ! ครั้งหนึ่ง เราอยู่ที่โฆสิตาราม นอกเมืองโกสัมพี. ครั้งนั้นปริพพาชกชื่อมัณฑิยะและชาละยะ ผู้ทารุปัตติกันเตวาสี ได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่,ครั้นเข้ามาแล้ว ได้กระทำสัมโมทนียกถายืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. บรรพชิตทั้งสองนั้นยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะเราว่ "อาวุโส โคตมะ ! ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น; หรือว่า ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น?" ดังนี้. เราได้กล่าวกะบรรพชิตทั้งสองนั้น ว่า:-

"ดูก่อนอาวุโส! ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง, จงกระทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ดูก่อนอาวุโส! ตถาคตเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นอรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปแล้วดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษไม่มีสารถีอื่นยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์. ตถาคตนั้น กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อม ทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้. ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ.

คฤหบดี หรือว่าคฤหบดีบุตร หรือบุคคลผู้เกิดแล้วในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ในภายหลัง ย่อมได้ฟังซึ่งธรรมนั้น. บุคคลนั้น ๆ ครั้นได้ฟังแล้วย่อมได้ซึ่งสัทธาใน ตถาคต, มาตามพร้อมแล้วด้วยการได้สัทธาในตถาคตแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, บรรพชาเป็นโอกาสว่าง; มิใช่เป็นการที่จะอยู่ครองเรือนแล้วประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์อันขัดดีแล้ว, ถ้ากระไร เราจะพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะแล้ว ออกจากเรือนบวชสู่ความไม่มีเรือนเถิด" ดังนี้. บุคคลนั้น ครั้นถึงสมัยอื่น ละโภคะน้อยใหญ่ ละวงศ์ญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะแล้ว ออกบวชจากเรือนสู่ความไม่มีเรือน.

ภิกษุนั้น ผู้บวชแล้วอย่างนี้ สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร, มีปรกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย, มาตามพร้อมแล้ว ด้วยกายกรรมวจีกรรมอันเป็นกุศล, มีอาชีวะบริสุทธิ์, ถึงพร้อมด้วยศีล, มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย,ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ.

ดูก่อนอาวุโส ! ก็ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า?ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้งดขาดจากปาณาติบาตวางท่อนไม้และศาตราเสียแล้ว... (ข้อความตอนต่อไปนี้ เป็นอย่างเดียวกันกับข้อความ ที่พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองในเรื่องศีลโดยพิสดาร ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่ว่า "มนุษย์บุถุชนรู้จักพระองค์น้อยเกินไป", ดังที่ปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มนี้ หน้า 452 เริ่มแต่บรรทัดที่ 4, ไปจนถึงหน้า 458 บรรทัดที่ 11 (นับจากบรรทัดเลขหน้า) จบตรงคำว่า "..ทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้นเสีย."; แล้วตรัสข้อความต่อไปถึงเรื่องการคุ้มครองอินทรีย์ การมีสติสัมปชัญญะ การสันโดษ การเสพเสนาสนะอันสงัด การละนิวรณ์, มีรายละเอียดหาดูได้ ที่หน้า 293 ถึงหน้า 295 แห่งหนังสือเล่มนี้ โดยหัวข้อว่า "ทรงฝึกสอนเป็นลำดับๆ". ส่วนรายละเอียดเรื่องสันโดษ ผู้สนใจพึงหาดูได้จากบาลีมหาลิสูตร สี.ที. 9/201/255).

ดูก่อนอาวุโส! ภิกษุนั้น เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล...(เป็นต้น)...อย่างนี้แล้ว มีใจสงัดแล้ว จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย, บรรลุ ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่; ดูก่อนอาวุโส! ภิกษุใด เป็นผู้รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ เป็นการสมควรหรือหนอ ที่ภิกษุนั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น". หรือว่า "ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น" ดังนี้?

"ดูก่อนอาวุโส โคตมะ! ภิกษุใดรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้, ย่อมไม่เป็นการสมควรที่ภิกษุนั้นจะพึงกล่าวว่า "ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น" หรือว่า "ชีวะก็อันอื่นสรีระก็อันอื่น" ดังนี้."

ดูก่อนอาวุโส ! แม้เราตถาคตในบัดนี้ ย่อมรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้; และเราย่อมไม่กล่าว ว่า "ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น". หรือกล่าวว่า "ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น" ดังนี้".

(ต่อจากนี้ ได้ตรัสถึงการที่ภิกษุนั้น บรรลุทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน, กระทั่งญาณทัสสนะเป็นลำดับไป จนถึงอาสวักขยญาณ มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว, และได้ตรัสถามให้ปริพพาชกนั้นตอบเองด้วยคำถาม และคำตอบ อย่างเดียวกัน ทุกประการ. มหาลิจฉวีผู้ปากแข็งได้ชอบใจ เพลิดเพลินในภาสิตนี้อย่างยิ่ง).

- บาลี มหาลิสูตร สี. ที. 9/200/255. ตรัสแก่โอฏฐัทธลิจฉวี ที่กูฏาคารสาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง