[Font : 15 ]
| |
: การให้ผลของกรรมไม่อาจเปลี่ยนได้ด้วยตบะของนิครนถ์ |  

ภิกษุ ท.! เราได้กล่าวกะนิครนถ์ ท. เหล่านั้นสืบไปอีกว่า "ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ท.! ท่าน ท. จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือพวกท่านจะพึงได้ตามใจชอบของท่านว่า ด้วยอำนาจการบำเพ็ญอุปักกมะและปธานะ (อันเป็นตบะของเรา) (1) กรรมใดเป็นกรรมที่ต้องเสวยผลในทิฏฐธรรม ขอให้กรรมนั้น เป็นกรรมที่พึงเสวยผลในสัมปรายภพเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

หรือว่า (2) กรรมใดเป็นกรรมที่ต้องเสวยผลในสัมปรายภพ ขอให้กรรมนั้น เป็นกรรมที่พึงเสวยผลในทิฏฐธรรมเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ท.! ท่าน ท. จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือพวกท่านจะพึงได้ตามใจชอบของท่านว่า ด้วยอำนาจการบำเพ็ญอุปักกมะและปธานะ (อันเป็นตบะของเรา) (3) กรรมใดเป้นกรรที่ต้องเสวยผลเป็นสุข ขอให้กรรมนั้นเป็นกรรมที่พึงเสวยผลเป็นทุกข์เถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

หรือว่า (4) กรรมใดเป็นกรรมที่ต้องเสวยผลเป็นทุกข์ ขอให้กรรมนั้นเป็นกรรมที่พึงเสวยผลเป็นสุขเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ท.! ท่าน ท. จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือพวกท่านจะพึงได้ตามความชอบใจของท่านว่า ด้วยอำนาจการบำเพ็ญอุปักกมะและปธานะ(อันเป็นตบะของเรา) (5) กรรมใดเป็นกรรมที่ต้องเสวยผลเต็มขนาด ขอให้กรรมนั้นเป็นกรรมที่พึงเสวยผลไม่เต็มขนาดเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

หรือว่า (6) กรรมใดเป็นกรรมที่ต้องเสวยผลไม่เต็มขนาด ขอให้กรรมนั้น เป็นกรรมที่พึงเสวยผลเต็มขนาดเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ท.! ท่าน ท. จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือพวกท่านจะพึงได้ตามความชอบใจของท่านว่า ด้วยอำนาจการบำเพ็ญอุปักกมะและปธานะ(อันเป็นตบะของเรา) (7) กรรมใดเป็นกรรมที่ต้องเสวยผลอย่างมาก ขอให้กรรมนั้นเป็นกรรมที่พึงเสวยผลแต่น้อยเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

หรือว่า (8) กรรมใดเป็นกรรมที่ต้องเสวยผลแต่น้อย ขอให้กรรมนั้นเป็นกรรมที่พึงเสวยผลอย่างมากเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ท.! ท่าน ท. จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือพวกท่านจะพึงได้ตามความชอบใจของท่านว่า ด้วยอำนาจการบำเพ็ญอุปักกมะและปธานะ (อันเป็นตบะของเรา) (9) กรรมใด เป็นกรรมที่ต้องเสวยผล ขอให้กรรมนั้นเป็นกรรมที่ไม่ต้องเสวยผลเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

หรือว่า (10) กรรมใดเป็นกรรมที่ไม่ต้องเสวยผล ขอให้กรรมนั้น เป็นกรรมที่ต้องเสวยผลเถิด, ดังนี้หรือ? "ไม่อาจเป็นไปได้, ท่าน!"

ท่านผู้เป็นนิครนถ์ ท.! เมื่อได้ยินกันอยู่แล้วดังนี้ว่า ไม่อาจเป็นไปได้ไม่อาจเป็นไปได้ ดังนี้แล้ว อุปักกมะและปธานะ ของท่านผู้เป็นนิครนถ์ ท. ก็ไม่มีผลอะไร.

ภิกษุ ท.! นิครนถ์ ท. เป็นผู้มีวาทะอย่างนี้; ภิกษุ ท.! ดังนั้นวาทานุวาทะ (วาทะน้อยใหญ่) 10 ประการ ที่ประกอบด้วยธรรมตามแบบของพวกนิครนถ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ ย่อมถึงฐานะที่ควรตำหนิ.

ภิกษุ ท.! ถ้าว่าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งกรรมอันกระทำในกาลก่อน แล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องกระทำกรรมชั่วในกาลก่อน เป็นแน่ เพราะในบัดนี้เป็นผู้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งแสบเผ็ดเห็นปานนี้.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง การชี้บ่งของอิศวร (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ) แล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องเป็นผู้ถูกชี้บ่งแล้วโดยอิศวรชั่ว เป็นแน่ เพราะในบัดนี้เป็นผู้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งแสบเผ็ดเห็นปานนี้.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง ภาวะทางสังคมแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องเป็นผู้มีสังคมชั่ว เป็นแน่ เพราะในบัดนี้เป็นผู้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งแสบเผ็ดเห็นปานนี้.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง การเกิดอันยิ่ง (อภิชาติ) แล้วไซร้นิครนถ์ ท. ก็ต้องเป็นผู้มีอภิชาติอันเลว เป็นแน่ เพราะในบัดนี้เป็นผู้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งแสบเผ็ดเห็นปานนี้.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง ความบากบั่นในทิฏฐธรรม แล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องเป็นผู้มีความบากบั่นในทิฏฐธรรมอันชั่ว เป็นแน่ เพราะในบัดนี้เป็นผู้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าแข็งแสบเผ็ดเห็นปานนี้.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งกรรมอันกระทำในกาลก่อน แล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ ถ้าสัตว์ ท. ไม่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งกรรมอันกระทำในกาลก่อนแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง การชี้บ่งของอิศวรแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ. ถ้าสัตว์ ท. ไม่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งการชี้บ่งของอิศวรแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง ภาวะทางสังคมแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ. ถ้าสัตว์ ท. ไม่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งภาวะทางสังคมแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง การเกิดอันยิ่ง (อภิชาติ) แล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ. ถ้าสัตว์ ท. ไม่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งอภิชาติแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ.

ภิกษุ ท.! ถ้าสัตว์ ท. เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่ง ความบากบั่นในทิฏฐธรรมแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ. ถ้าสัตว์ ท. ไม่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งความบากบั่นในทิฏฐธรรมแล้วไซร้ นิครนถ์ ท. ก็ต้องถูกตำหนิ.

ภิกษุ ท.! นิครนถ์ ท. เป็นผู้มีวาทะอย่างนี้; ภิกษุ ท.! ดังนั้นวาทานุวาทะ ที่ประกอบด้วยธรรมตามแบบของพวกนิครนถ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ 10 ประการเหล่านี้ ย่อมถึงฐานะที่ควรตำหนิ.

ภิกษุ ท.! อุปักกมะและปธานะที่ไม่มีผล เป็นอย่างนี้แล.

- อุปริ ม. 14/10/10-11.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง