[Font : 15 ]
| |
อุทเทส และ นิทเทส แห่งอัฏฐังคิกมรรคแต่ละองค์

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง จักจำแนก ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค แก่เธอทั้งหลาย. เธอทั้งหลายจงฟังข้อความนั้น จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ เราจักกล่าว.

ภิกษุ ท. ! อริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นอย่างไรเล่า? อริยอัฏฐังคิกมรรค ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาทิฏฐิ.

ภิกษุ ท. ! สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไรเล่า? ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่มุ่งร้าย ความดำริในการไม่เบียดเบียน ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสังกัปปะ.

ภิกษุ ท. ! สัมมวาจา เป็นอย่างไรเล่า? เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบบ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวาจา.

ภิกษุ ท. ! สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไรเล่า? เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากดรรมอันมิใช่พรหมจรรย์.13.3 ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมากัมมันตะ.

ภิกษุ ท. ! สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! สาวกของพระอริยเจ้า ในกรณีนี้ ละการเลี้ยงชีวิตที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตชอบ. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาอาชีวะ.

ภิกษุ ท. ! สัมมาวายามะ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ; ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละอกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว ; ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ; ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวายามะ.

ภิกษุ ท. ! สัมมาสติ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสติสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ; ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปัชชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ; ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสติ.

ภิกษุ ท. ! สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ ; เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ ; อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า "เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปรกติสุข" ดังนี้ เข้าถึงตติยฌาน แล้วแลอยู่ ; เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสมาธิ.

- มหาวาร.สํ. 19/10-12/33-41.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง