[Font : 15 ]
| |
ทรงแสดงหลักพระศาสนา ไม่มีวิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิด |  

สติ! จริงหรือตามที่ได้ยินว่า เธอมีทิฎฐิอันลามกเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ว่า "เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นี่แหละ ย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป, หาใช่สิ่งอื่นไม่" ดังนี้?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเช่นนั้นว่า วิญญาณนี้นี่แหละ ย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป, หาใช่สิ่งอื่นไม่ ดังนี้".

สาติ! วิญญาณนั้น เป็นอย่างไร?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! นั่นคือสภาพที่เป็นผู้พูด ผู้รู้สึก (ต่อเวทนา) ซึ่งเสวยวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ท. ในภพนั้นๆ".

โมฆบุรุษ! เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ เมื่อแสดงแก่ใครเล่า. โมฆบุรุษ! เรากล่าววิญญาณ ว่าเป็นปฎิจจสมุปปันนธรรม (สิ่งที่อาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น) โดยปริยายเป็นอันมาก; ถ้าเว้นจากปัจจัยแล้ว ความเกิดแห่งวิญญาณมิได้มี ดังนี้มิใช่หรือ. โมฆบุรุษ! เมื่อเป็นอย่างนั้น เธอชื่อว่า ย่อมกล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำที่ตนเองถือเอาผิดด้วย ย่อมขุดตนเองด้วย ย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาด้วย; โมฆบุรุษ! ข้อนั้นแหละ จักเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลแก่เธอตลอดกาลนาน ดังนี้.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ท. แล้วตรัสว่า:-

ภิกษุ ท.! พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ภิกษุสาติเกวัฎฎบุตรนี้ ยังจะพอนับว่าเป็นพระเป็นสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ได้บ้างไหม?

"จะเป็นได้อย่างไร พระเจ้าข้า! หามิได้เลย พระเจ้าข้า!"

(เมื่อภิกษุ ท. ทูลอย่างนี้แล้ว ภิกษุสาติผู้เกวัฎฎบัตร ก็เงียบเสียง เก้อเขิน คอตกก้มหน้า ซบเซา ไม่ปฎิภาณ นิ่งอยู่. พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นดังนั้นแล้ว ได้ตรัสว่า:-)

โมฆบุรุษ! เธอจักปรากฎด้วยทิฎฐิอันลามากนั้นของตนเองแล; เราจักสอบถามภิกษุ ท. ในที่นี้. (แล้วทรงสอบถามภิกษุ ท. จนเป็นที่ปรากฎว่า พระองค์มิได้ทรงแสดงธรรมดังที่สาติภิกษุกล่าว แล้วทรงแสดง การเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ โดยอาการแห่งปฎิจจสมุปบาทครบทั้ง 6 อายตนะ).

- บาลี มหาตัณหาสัขยสูตร มู.ม. 12/475/442. ตรัสแก่ภิกษุสาติเกวัฎฎบุตร ที่เชตวนาราม ใกล้เมืองสาวัตถี.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง