[Font : 15 ]
| |
การเห็นกายและเวทนา ในระดับแห่งผู้หลุดพ้น |  

อัคคิเวสสนะ ! กายนี้ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต 4 มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ทั้งที่มีการขัดสีนวดฟั้นอยู่ก็ยังมีการแตกสลายกระจัดกระจายเพราะความไม่เที่ยงนั่นเองเป็นธรรมดา อันบุคคลควรตามเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น (ให้ยืมมา) เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เมื่อบุคคลนั้น ตามเห็นอยู่ซึ่งกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น(ให้ยืมมา) เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน, ความพอใจในกาย ความสิเนหาในกาย ความตกอยู่ในอำนาจของกาย ที่มีอยู่ในกาย เขาย่อมละเสียได้.

อัคคิเวสสนะ ! เวทนา 3 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา. อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยสุขเวทนา, สมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา, สมัยนั้นคงเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น. อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยทุกขเวทนา, สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา, สมัยนั้นคงเสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น. อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา, สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา, สมัยนั้นคงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น.

อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนา เป็นของไม่เที่ยง (อนิจฺจา) เป็นของปรุงแต่ง (สงฺขตา) เป็นของอาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา) มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา (ขยธมฺมา) มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา (วยธมฺมา) มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา (วิราคธมฺมา) มีความดับไปเป็นธรรมดา (นิโรธธมฺมา). อัคคิเวสสนะ ! แม้ ทุกขเวทนา ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง เป็นของอาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา. อัคคิเวสสนะ ! แม้ อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง เป็นของอาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา.

อัคคิเวสสนะ ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสุขเวทนา แม้ในทุกขเวทนา แม้ในอทุกขมสุขเวทนา ; เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ; เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ; เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอย่างอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

อัคคิเวสสนะ ! ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่กล่าวคำประจบใคร ๆ ย่อมไม่กล่าวคำขัดแย้งใคร ๆ และโวหารใดที่เขากล่าวกันอยู่ในโลก เธอก็กล่าวโดยโวหารนั้น ไม่ยึดมั่นความหมายไร ๆ อยู่.

(เมื่อจบพระพุทธดำรัสนี้ พระสารีบุตรผู้ถวายงานพัดอยู่เบื้องหลัง ได้บรรลุพระอรหันต์.)

- ม. ม. 13/266 - 267/272 - 273.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง