[Font : 15 ]
| |
ผัสสะ คือนิทานสัมภวะส่วนมากของนิพเพธิกธรรม (เรื่องนี้ใส่เข้ามาในฐานะที่เป็นหลักธรรมที่ช่วยปฏิบัติ)

ผัสสะ คือนิทานสัมภวะส่วนมากของนิพเพธิกธรรมPTC124

(เรื่องนี้ใส่เข้ามาในฐานะที่เป็นหลักธรรมที่ช่วยปฏิบัติ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงซึ่งธรรมปริยายชื่อนิพเพธิกปริยาย แก่พวกเธอทั้งหลาย. พวกเธอทั้งหลายจงฟังซึ่งข้อความนั้น. จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์, เราจักกล่าวบัดนี้.

ครั้นภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ทูลสนองรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้ว่า:-

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมปริยายชื่อนิพเพธิกปริยาย นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !

(1) กามทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง, นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกามทั้งหลาย, เวมัตตตา (ประมาณต่างๆ) แห่งกามทั้งหลาย, วิบาก (ผลสุกวิเศษ) แห่งกามทั้งหลาย, นิโรธ (ความดับไม่เหลือ) แห่งกาม, นิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือ) แห่งกาม, (นี้, แต่ละอย่างๆ) เป็นธรรมที่บุคคลพึงรู้แจ้ง.

(2) เวทนาทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง, นิทานสัมภวะแห่งเวทนาทั้งหลาย, เวมัตตตาแห่งเวทนาทั้งหลาย, วิบากแห่งเวทนาทั้งหลาย, นิโรธแห่งเวทนา, นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งเวทนา, (นี้, แต่ละอย่างๆ) เป็นธรรมที่บุคคลพึงรู้แจ้ง.

(3) สัญญาทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง, นิทานสัมภวะแห่งสัญญาทั้งหลาย, เวมัตตตาแห่งสัญญาทั้งหลาย, วิบากแห่งสัญญาทั้งหลาย, นิโรธแห่งสัญญา, นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งสัญญา, (นี้, แต่ละอย่างๆ) เป็นธรรมที่บุคคลพึงรู้แจ้ง.

(4) อาสวะทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง, นิทานสัมภวะแห่งอาสวะทั้งหลาย, เวมัตตตาแห่งอาสวะทั้งหลาย, วิบากแห่งอาสวะทั้งหลาย, นิโรธแห่งอาสวะ, นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งอาสวะ, (นี้, แต่ละอย่างๆ) เป็นธรรมที่บุคคลพึงรู้แจ้ง.

(5) กรรม อันบุคคลพึงรู้แจ้ง, นิทานสัมภวะแห่งกรรม, เวมัตตตาแห่งกรรม, วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย, นิโรธแห่งกรรม, นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกรรม, (นี้, แต่ละอย่างๆ) เป็นธรรมที่บุคคลพึงรู้แจ้ง.

(6) ทุกข์ อันบุคคลพึงรู้แจ้ง, นิทานสัมภวะแห่งทุกข์, เวมัตตตาแห่งทุกข์, วิบากแห่งทุกข์, นิโรธแห่งทุกข์, นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งทุกข์, (นี้, แต่ละอย่างๆ) เป็นธรรมที่บุคคลพึงรู้แจ้ง.

(1) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กามทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นอย่างไรเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณทั้งหลาย 5 ประการ เหล่านี้ คือ รูปทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ.. เสียงทั้งหลาย อันจะถึงรู้แจ้งด้วยโสตะ.. กลิ่นทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก.. รสทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น.. สัมผัสผิวหนัง อันจะพึงสัมผัสด้วยกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา (อิฏฐา) น่าใคร (กนฺตา) น่าพอใจ (มนาปา) มีลักษณะอันน่ารัก (ปิยะรูปา) เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งความใคร่ (กามูปสญฺหิตา) เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด (รชนิยา) มีอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อารมณ์ทั้งหลาย 5 ประการเหล่านี้หาใช่กามไม่ : ในอริยวินัย เรียกอารมณ์ทั้งหลาย 5 ประการเหล่านี้ว่า “กามคุณ” (หาเรียกว่ากามไม่) แต่ว่า :-

ความกำหนัดไปตามอำนาจความตริตรึก (สงฺกปฺปราค) นั่นและคือกามของคนเรา ;

อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลาย ในโลก นั้น หาใช่กามไม่ ;

ความกำหนัดไปตามอำนาจความตริตรึก นั่นและคือกามของคนเรา ;

อารมณ์อันวิจิตร ก็มีอยู่ในโลก ตามประสาของมันเท่านั้น ;

ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงนำออกเสียซึ่งฉันทะ ในอารมณ์ อันวิจิตรเหล่านั้น ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิทานแห่งสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกามทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะแห่งกามทั้งหลาย คือ ผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็เวมัตตตา (ประมาณต่างๆ ) แห่งกามทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เวมัตตตาแห่งกามทั้งหลาย คือความใคร่ (กาม) ในรูปารมณ์ก็อย่างหนึ่งๆ , ความใคร่ในสัททารมณ์ ก็อย่างหนึ่งๆ , ความใคร่ในคันธารมณ์ อย่างหนึ่งๆ , ความใคร่ในรสารมณ์ ก็อย่างหนึ่งๆ , ความใคร่ในโผฏฐัพพารมณ์ ก็อย่างหนึ่งๆ , ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า เวมัตตตาแห่งกามทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิบากแห่งกามทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลมีความใคร่ในอารมณ์ใดอยู่ ย่อมยังอัตภาพอันเกิดจากกามในอารมณ์นั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบุญบ้าง มีส่วนแห่งบุญหามิได้บ้าง ; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งกามทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธแห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกามมี เพราะความดับแห่งผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล คือ นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกาม, ข้อนั้นได้แก่สิ่งเหล่านี้ สัมมทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งกามทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งนิทานสัมภวะแห่งกามทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งเวมัตตตาแห่งกามทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งวิบากแห่งกามทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งนิโรธแห่งกามอย่างนี้, ซึ่งนิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกามอย่างนี้; ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์อันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสนี้ว่า เป็นที่ดับแห่งกาม (กามนิโรธ).

(2) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็เวทนาทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นอย่างไรเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เวทนาทั้งหลาย 3 ประการเหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิทานสัมภวะแห่งเวทนาทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะแห่งเวทนาทั้งหลาย คือ ผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็เวมัตตตาแห่งเวทนาทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สุขเวทนา อันเป็นไปด้วยอามิส (เหยื่อ) ก็มีอยู่, สุขเวทนา อันปราศจากอามิส ก็มีอยู่, ทุกขเวทนา อันเป็นไปกับด้วยอามิส ก็มีอยู่, ทุกขเวทนา อันปราศจากอามิส ก็มีอยู่, อทุกขมสุขเวทนา อันเป็นไปกับด้วยอามิส ก็มีอยู่, อทุกขมสุขเวทนา อันปราศจากอามิส ก็มีอยู่ ; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งเวทนาทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิบากแห่งเวทนาทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลเสวยเวทนาใดอยู่ ย่อมยังอัตตภาพอันเกิดจากเวทนานั้นให้เกิดขึ้น เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบุญบ้าง เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบุญหามิได้บ้าง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งเวทนาทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธแห่งเวทนา เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งเวทนามี เพราะความดับแห่งผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งเวทนา เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้แล คือนิโรธคามินีปฏิปทาแห่งเวทนา, ข้อนั้นได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งเวทนาทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งนิทานสัมภวะแห่งเวทนาทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งเวมัตตตาแห่งเวทนาทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งวิบากแห่งเวทนาทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งนิโรธแห่งเวทนาอย่างนี้, ซึ่งนิโรธคามินีปฏิปทาแห่งเวทนาอย่างนี้; ในกาลนั้น อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์ อันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสนี้ว่า เป็นที่ดับแห่งเวทนา (เวทนานิโรธ).

(3) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็สัญญาทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นอย่างไรเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สัญญาทั้งหลาย 6 ประการเหล่านี้ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิทานสัมภวะแห่งสัญญาทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภาวะแห่งสัญญาทั้งหลาย คือผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็เวมัตตตาแห่งสัญญาทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สัญญาในอารมณ์คือรูปทั้งหลาย ก็อย่างหนึ่งๆ , สัญญาในอารมณ์คือเสียงทั้งหลาย ก็อย่างหนึ่งๆ, สัญญาในอารมณ์คือกลิ่นทั้งหลาย ก็อย่างหนึ่งๆ, สัญญาในอารมณ์คือรสทั้งหลาย ก็อย่างหนึ่งๆ, สัญญาในอารมณ์โผฎฐัพพทั้งหลาย ก็อย่างหนึ่งๆ, สัญญาในอารมณ์ธัมมารมณ์ทั้งหลาย ก็อย่างหนึ่งๆ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งสัญญาทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วบากแห่งสัญญาทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวซึ่งสัญญาทั้งหลาย ว่าเป็นสิ่งที่มีผลออกมาเป็นโวหารพูดอย่างหนึ่งๆ (โวหารเวปกฺกา) เพราะว่าบุคคลกระทำซึ่งสัญญาในสิ่งนั้นๆ ว่าอย่างไร เขาย่อมกล่าวออกมาอย่างนั้นๆ เช่นว่า เราป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ๆPTC125 เป็นต้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งสัญญาทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธแห่งสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งสัญญามี เพราะความดับแห่งผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งสัญญา เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยอัฎฐังคิกมรรคนี้แล คือ นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งสัญญา ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือสัมมทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในการใดแล อริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งสัญญาทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งเวมัตตตาแห่งสัญญาทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งวิบากแห่งสัญญาทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งนิโรธแห่งสัญญาอย่างนี้, ซึ่งนิโรธคามินีปฏิปทาแห่งสัญญาอย่างนี้ ; ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์อันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสนี้ว่า เป็นที่ดับแห่งสัญญา (สัญญานิโรธ).

(4) ...ฯลฯ... (ข้อความตอนที่ละไว้นี้ เป็นตอนที่กล่าวถึงอาสวะ จักเว้นเสียไม่นำมาใส่ไว้ในที่นี้ เพราะไม่ได้ตรัสไว้เกี่ยวกับผัสสะโดยตรง) ...ฯลฯ...

(5) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็กรรม อันบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นอย่างไรเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวซึ่งเจตนา ว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลมีเจตนาแล้ว ย่อมกระทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิทานสัมภวะแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภาวะแห่งกรรมทั้งหลาย คือผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็เวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กรรมอันทำสัตว์ให้เสวยเวทนาเป็นสัตว์นรก มีอยู่, กรรมอันทำสัตว์ให้เสวยเวทนาเป็นกำเนิดเดรัจฉาน มีอยู่, กรรมอันทำสัตว์ให้เสวยเวทนาเป็นเปรตวิสัย มีอยู่, กรรมอันทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในมนุษยโลก มีอยู่, กรรมอันทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่ ; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งเวทนา ทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวซึ่งวิบากแห่งกรรมว่ามีอยู่ 3 อย่าง คือ วิบากในทิฏฐิธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากในอุปะปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากในอปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก) ; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิโรธแห่งกรรม เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความดับแห่งกรรมทั้งหลายมี เพราะความดับแห่งผัสสะ.PTC126

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกรรม เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อริยอัฎฐังคิกมรรคนี้แล คือ นิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกรรม, ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งกรรม อย่างนี้, ซึ่งเวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย อย่างนี้, ซึ่งวิบากแห่งกรรมทั้งหลายอย่างนี้, ซึ่งนิโรธแห่งกรรมอย่างนี้, ซึ่งนิโรธคามินีปฏิปทาแห่งกรรมอย่างนี้ ; ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์อันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลสนี้ว่า เป็นที่ดับแห่งกรรม (กัมมนิโรธ).

(6) ...ฯลฯ... (ข้อความตอนที่ละไว้นี้ เป็นตอนที่กล่าวถึงอาสวะ จักเว้นเสียไม่นำมาใส่ไว้ในที่นี้ เพราะไม่ได้ตรัสไว้เกี่ยวกับผัสสะโดยตรง) ...ฯลฯ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คือธรรมปริยายอันชื่อว่านิพเพธิกปริยาย นั้น.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั้น มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือข้อที่ผัสสะเป็นที่เกิดและที่ดับ แห่งกาม แห่งเวทนา แห่งสัญญา และแห่งกรรม. พวกเรายังมีความรู้เรื่องผัสสะกันน้อยเกินไป จึงไม่สามารถจะปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จในการเอาชนะกาม, ในการควบคุมเวทนา, ในการละเสียซึ่งสัญญา และในการทำความสิ้นสุดแห่งกรรมทั้งหลาย. ผัสสะเป็นตัวการสำคัญในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว เมื่อมีการกล่าวถึงผัสสะในที่ใด ก็พึงทราบเถิดว่า ย่อมมีกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทซ่อนอยู่ครบถ้วนในที่นั้น ไม่ว่าจะเรียกว่ากาม หรือเวทนา หรือสัญญา หรือกรรม อันเป็นนิพเพธิกธรรม ดังที่กล่าวแล้วในพระบาลีนี้ ; ดังนั้น ควรจะถือว่า ผัสสะทั้งหลาย เป็นนิทานสัมภวะส่วนมากของนิพเพธิกรรม ที่บุคคลพึงรู้แจ้งแทงตลอด เพื่อความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ในที่สุด.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ