[Font : 15 ]
| |
เมื่อตีความคำบัญญัติผิด แม้ทารกนอนเบาะก็มีศีลโดยอัตโนมัติ |  

(อุคคาหมานปริพพาชก ได้กล่าวกะช่างไม้ชื่อปัญจกังคะว่า “ถปติ ! เราบัญญัติ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ว่าเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะผู้บรรลุถึงการบรรลุอันอุดม อันใคร ๆ รบให้แพ้ไม่ได้. 4 อย่างอย่างไรเล่า ? 4 อย่างคือ บุคคลในกรณีนี้ ย่อมไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปด้วยกาย 1 ย่อมไม่กล่าวาจาอันเป็นบาป 1 ย่อมไม่ดำริความดำริอันเป็นบาป 1 ย่อมไม่เลี้ยงชีวิตด้วยอาชีพอันเป็นบาป 1.” ช่างไม้ไม่ยินดีไม่คัดค้านถ้อยคำน้ัน เข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลข้อความนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าทุกประการ. ตรัสว่า :-)

ถปติ ! ถ้าเป็นอย่างที่ปริพพาชกนั้นกล่าวแล้ว เด็กอ่อนนอนหงายอยู่บนเบาะ ก็จะกลายเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะผู้บรรลุถึงการบรรลุอันอุดม อันใคร ๆ รบให้แพ้ไม่ได้ ไปเสีย. ถปติ ! สำหรับเด็กอ่อนนอนหงายอยู่บนเบาะนั้น แม้แต่ความรู้จักว่า “กาย ๆ” ดังนี้ ก็ยังมิได้มี แล้ว จักกระทำกรรมอันเป็นบาปด้วยกายได้แต่ที่ไหน อย่างมากก็เพียงกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่บนเบาะ. ถปติ ! สำหรับเด็กอ่อนนอนหงายอยู่บนเบาะนั้น แม้แต่ความรู้จักว่า “วาจา ๆ” ดังนี้ ก็ยังมิได้มี แล้ว จักกล่าววาจาอันเป็นบาปได้แต่ที่ไหน อย่างมากก็เพียงส่งเสียงร้องไห้. ถปติ ! สำหรับเด็กอ่อนนอนหงายอยู่บนเบาะนั้น แม้แต่ความรู้จักว่า “ดำริ ๆ” ดังนี้ ก็ยังมิได้มี แล้ว จักดำริความดำริอันเป็นบาปได้แต่ที่ไหน อย่างมากก็เพียงแสดงอาการอึดอัด (ตามประสาเด็ก). ถปติ ! สำหรับเด็กอ่อนนอนหงายอยู่บนเบาะนั้น แม้แต่ความรู้จักว่า “อาชีพ ๆ” ดังนี้ ก็ยังมิได้มี แล้ว จักเลี้ยงชีวิตด้วยอาชีพอันเป็นบาปได้แต่ที่ไหน อย่างมากทำได้ก็แต่เพียงกินนมแม่. ถปติ ! เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เด็กอ่อนนอนหงายอยู่บนเบาะ จักเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะผู้บรรลุถึงการบรรลุอันอุดม อันใคร ๆ รบให้แพ้ไม่ได้ ดังคำกล่าวของอุคคาหมานปริพพาชกนั้นได้อย่างไร.

ถปติ ! เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 อย่าง (ตามที่อุคคาหมานปริพพาชกกล่าวนั้น) ว่า ยังไม่ใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์ ยังไม่ใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง ยังไม่ใช่สมณะผู้บรรลุถึงการบรรลุอันอุดมอันใคร ๆ รบให้แพ้ไม่ได้ อย่างมาก บุคคลนั้นเพียงแต่จะดีกว่าเด็กอ่อนนอนหงายอยู่บนเบาะบ้างเท่านั้น.

- ม. ม. 13/343 - 345/358 - 360.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง