[Font : 15 ]
| |
กาม

๑. พยัญชนะ: (โดยตัวหนังสือ หรือคำแปลตามตัวหนังสือ)

กามโดยพยัญชนะ: คือ ความใคร่.

๒. อรรถะ: (โดยความหมาย)

กามโดยอรรถะ หมายถึง ความรู้สึกที่เป็นความใคร่. ส่วนใหญ่หมายถึง ความรู้สึกเกี่ยวกับเพศตรงข้ามในระดับสัญชาตญาณก็ได้; ในระดับที่เจริญเกินกว่าระดับของสัญชาตญาณก็ได้. คำๆ นี้ใช้หมายถึงตัวความรู้สึกเช่นนั้นก็ได้ เรียกว่ากิเลสกาม; หมายถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์ของความรู้สึกเช่นนั้นก็ได้ เรียกว่า วัตถุกาม หรือกามคุณ; หรือหมายถึงอาการหรือการกระทำตามความรู้สึกเช่นนั้นก็ได้ เรียกว่ากามหรือกามวิตก.

๓. ไวพจน์: (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้ทั้งคำบาลีและคำภาษาไทย)

กามโดยไวพจน์ คือ นันทิ, ราคะ, ตัณหา ฯลฯ ความกำหนัด, ความยินดี.

๔. องค์ประกอบ: (ปัจจัยที่ต้องมีมากกว่าหนึ่ง, และปัจจัยนั้นๆต้องทำงานร่วมกันและพร้อมกันในเรื่องเดียวกัน)

กามโดยองค์ประกอบ

๑. เวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาอันเป็นเหตุให้ใคร่.

๒. อารมณ์ของความใคร่.

๓. กิริยาที่ใคร่.

๕. ลักษณะ: (ลักษณะภายนอกที่เป็นเครื่องสังเกตหรือเครื่องกำหนดที่ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอย่างไร จึงเรียกว่าอย่างนั้น)

กามโดยลักษณะ มีลักษณะ:

๕.๑ แห่งความเขลา (อวิชชา).

๕.๒ แห่งความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน).

๕.๓ แห่งความไม่รู้จักอิ่มจักพอ.

๕.๔ เผาลนหรือกัดเจ้าของ

๕.๕ แห่งความดิ้นรนแสวงหา.

๕.๖ ให้เกิดการกระทำอย่างอื่นต่อไป.

๖. อาการ: (อาการเคลื่อนไหว หรือ แสดงความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ)

กามโดยอาการ มีอากร:

๖.๑ ดิ้นรนแสวงหา (ปริเยสนา).

๖.๒ เพลิดเพลินยินดี (นันทิ).

๖.๓ สยบมัวเมาในสิ่งที่ได้มา (มุจฉา).

๖.๔ แห่งการเผาลนหรือกัดเจ้าของ.

๖.๕ แห่งการหึงหวงเห็นแก่ตัว.

๖.๖ ปรุงกามภพ

๗. ประเภท: (การจำแนกให้เข้ากันเป็นพวกๆตามลักษณะอาการของสิ่งนั้นๆ)

กามโดยประเภท แบ่งโดยประเภทสอง:

๑. กิเลสกาม: คือ กามที่เป็นตัวกิเลส.

๒. วัตถุกาม: คือ กามที่เป็นตัววัตถุของกิเลส. (หรือจะแบ่งเป็น สามประเภทก็ได้ โดยเพิ่มตัวกาม ซึ่งเป็นตัวกิริยาอาการแห่งการกระทำ)

๘. กฏเกณฑ์: (กฏเกณฑ์ของสิ่งนั้นๆหรือกฏเกณฑ์เพื่อจะเข้าไปถึงสิ่งนั้นๆซึ่งอาจมีได้ทั้งโดยบัญญัติและโดยธรรมชาติ)

กามโดยกฏเกณฑ์

๘.๑ กฏเกณฑ์ของความเป็นกามหรือความสมบูรณ์ของกาม: ต้องนำ หน้าด้วยมิจฉาสังกัปปะหรืออวิชา แล้วตามด้วยกิเลสกาม วัตถุกาม และ กิริยากาม; รวมทั้งผลสะท้อนที่เกิดตามมา เช่น กามภพ หรือวิกฤตการณ์ ทั้งหลายที่เนื่องกันอยู่

๘.๒ กามทุกรูปแบบหรือทุกกรณี มีสายแห่งปฏิจจสมุปบาทของมันเองอย่างสมบูรณ์.

๙. สัจจะ: (ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

กามโดยสัจจะ

นัยที่หนึ่ง: เกี่ยวกับมนุษย์เพื่อไม่สูญพันธุ์: เป็นความลับของธรรมชาติ ใช้กามเป็นเครื่องล่อ หรือจ้างมนุษย์ให้การสืบพันธุ์; ซึ่งตามปกติเป็นสิ่งเจ็บปวด ยุ่งยากลำบาก ไม่อยากกระทำ; แต่ก็ทนอำนาจกามไม่ได้ จึงกระทำการสืบพันธุ์.

นัยที่สอง: เกี่ยวกับการพัฒนาหรือวิวัฒนาการ: มีกามเป็นเครื่องชักนำให้ก้าวหน้าไม่มี สิ้นสุด

นัยที่สาม: เกียวกับสังคม: คือ มีการต่อสู้แข่งขันแย่งชิงเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่ากาม; จนกระทั่งเกิดอาชญากรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด.

นัยที่สี่: เกี่ยวกับการขัดแย้งในโลก: มีการทะเลาะวิวาทเกี่ยวกับกาม; แม้ที่สุดใน ระหว่างพี่กับน้อง หรือบิดากับบุตร.

นัยที่ห้า: เกี่ยวกับชั้นหรือภูมิแห่งจิตใจมนุษย์: คือกามธาตุ เป็นความหมายสำคัญ ของสัตว์ ที่ตั้งอยู่ในกามาวจรภูมิA03; ถ้าก้าวล่วงกามธาตุเสียได้ ก็ย่อมเปลี่ยนเป็นภูมิ ที่สูงขึ้นไป

นัยที่หก : เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม: คือกามธาตุ เป็นสิ่งที่ต้องละในขั้นตอนแห่งการก้าว ไปสู่โลกุตตรภูมิA04.

๑๐. หน้าที่: (การที่สิ่งมีชีวิตจะต้องกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

กามโดยหน้าที่

๑๐.๑ หน้าที่ (โดยสมมติ) ของสิ่งที่เรียกว่ากาม: คือ การปรุงแต่งให้เกิดกามภพ และ หมู่สัตว์ทั้งหลายผู้ตกอยู่ในวิสัยแห่งกาม.

๑๐.๒ หน้าที่ของมนุษย์ต่อสิ่งที่เรียกว่ากาม: คือ ทำการศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากาม; แล้วเปลื้องตนออกมาเสียจากอำนาจของสิ่งที่เรียกว่ากาม; เรียกว่าอยู่เหนือกาม. มิฉะนั้นจะเป็นสัตว์นรกอยู่ในเมืองสวรรค์; ดังที่กำลังมี กำลังเป็นอยู่ในบัดนี้ แม้ในโลกนี้.

๑๐.๓ หน้าที่ของผู้สืบพระศาสนาต่อสิ่งที่เรียกว่ากาม: คือการสั่งสอน การทำตัวอย่างให้ดู และการช่วยเหลือให้สัตว์ทั้งหลายได้ออกมาเสียจากอำนาจของกาม; มิใช่เป็นผู้จมกามเสียเอง.

๑๑. อุปมา: (การเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เข้าใจดีอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจในสิ่งนั้นๆดียิ่งขึ้นจนถึงที่สุด)

กามโดยอุปมา เปรียบเสมือน:

๑๑.๑ หัวงูพิษ ที่คนมักจับเอาโดยไม่รู้จัก.

๑๑.๒ บ่วงคล้องสัตว์ ดิ้นให้หลุดไม่ได้.

๑๑.๓ คบเพลิงหญ้า ถือทวนลมไหม้มือผู้ถือ.

๑๑.๔ หลุมถ่านเพลิง ตกลงไปแล้วยากที่จะรอด.

๑๑.๕ เบ็ดที่หุ้มเหยื่อ สำหรับเกี่ยวปลาโง่.

๑๑.๖ ลูกศรอาบยาพิษ มีความเจ็บปวดสูงสุดในระยะหลัง.

๑๑.๗ ท่อนกระดูกมีเนื้อติดแต่เล็กน้อย ให้ความสุขน้อย ให้ทุกข์มากในการกิน.

๑๑.๘ เขียงรองสับเนื้อ เป็นที่รองรับการสับโขกรอบด้าน.

๑๑.๙ ชิ้นเนื้อในปากสัตว์ที่จะถูกสัตว์อื่นตามยื้อแย่ง.

๑๑.๑๐ หอกและหลาว ซึ่งมีไว้เพียงเพื่อการแทงตัวเอง.

๑๑.๑๑ วัตถุในฝัน ซึ่งพอตื่นขึ้นมาก็หายสาบสูญไป.

๑๑.๑๒ ของที่ยืมเขามา ซึ่งไม่อาจถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ได้ ต้องคืนเจ้าของ.

๑๑.๑๓ ดอกไม้ของมาร สำหรับล่อสัตว์.

๑๒. สมุทัย: (สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นๆ)

กามโดยสมุทัย

๑๒.๑ อวิชชาในกาม ความไม่รู้โดยประการทั้งปวง

๑๒.๒ ความหลงไหลในอัสสาทะของกาม.

๑๒.๓ ความสุขงอมของต่อมแกลนด์สำหรับความรู้สึกทางเพศ ตามสัญชาตญาณของสัตว์. (คำกล่าวนี้เป็นกรรมวิธีหรือกลไกของธรรมชาติ มิใช่ข้อความในพระคัมภีร์ แต่ก็เป็นสิ่งที่ ควรรู้ในการปฏิบัติธรรม; จึงนำมากล่าว).

๑๒.๔ การถูกแวดล้อมด้วยอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางกาม; ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลัง มีอยู่ในปัจจุบัน

๑๓. อัตถังคมะ: (ความดับของสิ่งนั้นๆ; คือ ความตั้งอยู่ไม่ได้ชั่วคราว หรือตลอดไปของสิ่งนั้นๆ)

กามโดยอัตถังคมะ

๑๓.๑ ความดับไปตามคราวเพราะเสร็จกิจ หรือขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรม หรือสังขตธรรมทั้งหลาย

๑๓.๒ พลังสติ พลังวิชชา มาทันเวลาก่อนแต่จะเกิด หรือกำลังเกิดอยู่ก็ตาม.

๑๓.๓ ความดับแห่งกามมี เพราะความดับแห่งเวทนา.

๑๔. อัสสาทะ: (เสน่ห์หรือรสอร่อยที่ยั่วยวนของสิ่งนั้นๆซึ่งมีต่อมนุษย์)

กามโดยอัสสาทะ

๑๔.๑ รสอร่อยและความเมาในรสอร่อย ที่ได้มาจากการบริโภคกาม.

๑๔.๒ กามมุจฉา ความเมาในความสมประสงค์ของกิเลสกาม.

๑๕. อาทีนวะ: (โทษหรือความเลวร้ายของสิ่งนั้นๆซึ่งซ่อนอยู่อย่างเห็นได้ยาก)

กามโดยอาทีนวะ

๑๕.๑ ทำความเจ็บปวดเป็นทุกข์แก่ผู้ยึดครอง; ทั้งก่อนได้ ได้อยู่ และจากไป; ในลักษณะ ที่เรียกว่า มีสุขน้อย มีทุกข์มาก; ไม่คุ้มค่า.

๑๕.๒ เป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมศีลธรรม; แม้กระทั่งอาชญากรรม ทุกชนิด เช่น อาชญากรรมวิปริต เช่น ลูกฆ่าพ่อ ฯลฯ

๑๕.๓ กามและปัจจัยแห่งกามทุกชนิด เป็นมูลเหตุแห่งความเห็นแก่ตัวทุกระดับ; เป็นเหตุให้ เกิดบุคคลมีลักษณะไม่พึงปรารถนาทุกรูปแบบขึ้นมาในโลก.

๑๖. นิสสรณะ: (อุบายหรือวิธีที่จะออกหรือพ้นจากอำนาจของสิ่งนั้นๆ)

กามโดยนิสสรณะ

๑๖.๑ อริยอัฏฐังคิกมรรค ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ.

๑๖.๒ มีอุบายเป็นเครื่องพิจารณาเห็นโทษแห่งกามอยู่เป็นประจำ.

๑๗. ทางปฏิบัติ: (ทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆเพื่อให้เกิดผลดีตามที่ประสงค์)

กามโดยทางปฏิบัติ

๑๗.๑ อริยมรรคมีองค์แปด: หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ศึล สมาธิ ปัญญา.

๑๗.๒ การมีปัญญาหรือวิปัสสนาญาณ: ที่ทำให้มองเห็นว่า กามทั้งหลายทุกชนิดเป็นสักว่า ธาตุตามธรรมชาติ เรียกว่ากามธาตุ; แล้วหยุดความยินดีมัวเมาในกามเสียได้

๑๘. อานิสงส์: (ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อสิ่งนั้นๆ)

กามโดยอานิสงส์

๑๘.๑ อานิสสงส์ของกามโดยสมมติหรือโดยอ้อม: เป็นบทเรียน, เป็นที่ตั้งแห่งการศึกษา, เพื่อให้รู้จักสิ่งที่มนุษย์ควรจะรู้จัก; เพื่อความหมดปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่ากาม.

๑๘.๒ อานิสสงส์โดยตรงของการอยู่เหนืออำนาจกาม: คือ ความสงบสุข เพราะหมดไฟกิเลส ประเภทนี้.

๑๘.๓ ในความหมายทางโลกๆ: ความรู้สึกทางกามเป็นปัจจัยแห่งการพัฒนาไปตามประสาโลกๆ; แม้ไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ในขั้นสุดท้าย ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่.

๑๙. หนทางถลำ: (การมีโอกาสหรือความบังเอิญที่ทำให้เกิดความง่ายแก่การปฏิบัติ หรือการทำหน้าที่ให้สำเร็จโดยง่ายยิ่งขึ้น; แต่ในบางกรณี ความบังเอิญนี้มีได้แม้ในฝ่ายลบที่ไม่พึงประสงค์)

กามโดยหนทางถลำ เข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของกาม:

๑๙.๑ การเป็นอยู่อย่างไม่สำรวมอินทรีย์.

๑๙.๒ การทำไม่ได้ต่อความยั่วยุของกามารมณ์ในทุกรูปแบบ.

๑๙.๓ นัสัยแห่งการตามใจตัวเอง, ไม่ยับยั้งสังวรในความรู้สึกชั่ววูปที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้อง เสียใจภายหลัง.

๒๐. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง: (ปัจจัยหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ที่จะช่วยให้การกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆเกิดความสำเร็จได้โดยง่ายและโดยเร็วที่สุด)

กามโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง ในการที่จะเอาชนะกามหรือการมีอำนาจเหนือกาม:

๒๐.๑ ความมีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ อย่างเพียงพอ และรวดเร็ว.

๒๐.๒ อยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่สนับสนุนความรู้สึกทางกาม.

๒๑. ภาษาคน-ภาษาธรรม: (การพูดจาที่จะกล่าวถึงสิ่งใดๆนั้นมีทางพูดได้สองภาษาคือ ภาษาคนและภาษาธรรม (1) ภาษาคน หมายถึง ภาษาที่คนธรรมดาใช้พูด ซึ่งมักระบุไปยังบุคคลหรือวัตถุภายนอก ที่เรียกกันว่า บุคคลาธิษฐาน (2)ภาษาธรรม หมายถึง ภาษาที่ผู้รู้ธรรมพูด ซึ่งมักระบุไปยังคุณค่าหรือคุณสมบัติ โดยไม่เล็งถึงบุคคลหรือวัตถุ ที่เรียกกันว่า ธรรมาธิษฐาน)

กามโดยภาษาคน-ภาษาธรรม

๒๑.๑ ภาษาคน: หมายถึงแต่เรื่องเพศ. ภาษาธรรม: ไม่เกี่ยวกับเพศก็ได้; หมายถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความปรารถนาทุกชนิด เช่น ธัมมกาโม (ผู้ใคร่ในธรรม).

๒๑.๒ ภาษาคน: เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา. ภาษาธรรม: เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

๑. กข กกา ของการศึกษาพุทธศาสนา

๒. ฆราวาสธรรม

๓. บรมธรรม ภาคต้น

๔. โมกขธรรมประยุกต์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง