[Font : 15 ]
| |
อาการที่สัตว์เกิดตัณหาและเกิดทุกข์ |  

ภิกษุ ท .! การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมมีได้ เพราะการประชุมพร้อมของสิ่ง 3 อย่าง. ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่ผ่านการมีระดู และคันธัพพะ (สัตว์ที่จะเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์นั้น) ก็ยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย, การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ก็ยังมีขึ้นไม่ได้ก่อน. ในสัตว์โลกนี้ แม้มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกัน และมารดาก็ผ่านการมีระดู แต่คันธัพพะยังไม่เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะ, การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ก็ยังมีขึ้นไม่ได้นั่นเอง. ภิกษุ ท.! แต่เมื่อใด มารดาและบิดาเป็นผู้อยู่ร่วมกัน ด้วย มาiดาก็ผ่านการมีระดูด้วย คันธัพพะก็เข้าไปตั้งอยู่โดยเฉพาะด้วย, การปฏิสนธิของสัตว์ในครรภ์ ย่อมสำเร็จได้ เพราะการประชุมพร้อมกัน ของสิ่ง 3 อย่าง ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุ ท.! มารดา ย่อมบริหารสัตว์ที่เกิดในครรภ์นั้น ด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก ตลอดเวลา 9 เดือนบ้าง 10 เดือนบ้าง.

ภิกษุ ท.! เมื่อล่วงไป 9 เดือนหรือ 10 เดือน, มารดา ย่อมคลอดบุตรนั้นด้วยความเป็นห่วงอย่างใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก; ได้เลี้ยงซึ่งบุตรอันเกิดแล้วนั้น ด้วยโลหิตของตนเอง. ภิกษุ ท.! ในวินัยของพระอริยเจ้า คำว่า "โลหิต" นี้ หมายถึงน้ำนมของมารดา.

ภิกษุ ท.! ทารกนั้น เจริญวัยขึ้น มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่แล้ว เล่นของเล่นสำหรับเด็ก เช่น เล่นไถน้อย ๆ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นของเล่นชื่อโมกขจิกะ6.2 link ไปเชิงอรรถ เล่นกังหันลมน้อย ๆ เล่นตวงของด้วยเครื่องตวงที่ทำด้วยใบไม้ เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ.

ภิกษุ ท.! ทารกนั้น ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว มีอินทรีย์อันเจริญเต็มที่แล้ว เป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณห้า ให้เขาบำเรออยู่ : ทางตาด้วยรูป, ทางหูด้วยเสียง, ทางจมูกด้วยกลิ่น, ทางลิ้นด้วยรส, และทางกายด้วยโผฏฐัพพะ, ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ และเป็นที่ตั้งแห่งความรัก. ทารกนั้น ครั้นเห็นรูปด้วยจักษุ เป็นต้นแล้ว ย่อมกำหนัดยินดี ในรูป เป็นต้น ที่ยั่วยวนให้เกิดความรัก, ย่อมขัดใจในรูป เป็นต้น ที่ไม่เป็นตั้งแห่งความรัก ; ไม่เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งสติอันเป็นไปในกาย มีใจเป็นอกุศล ไม่รู้ตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลาย. กุมารน้อยนั้น เมื่อประกอบด้วยความยินดีและความยินร้ายอยู่เชนนี้แล้ว,เสวยเฉพาะซึ่งเวทนาใด ๆ เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม, เขาย่อมเพลิดเพลินพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนานั้น ๆ. เมื่อเป็นอยู่เช่นนั้น, ความเพลิน (นันทิ) ย่อมบังเกิดขึ้น. ความเพลินใด ในเวทนาทั้งหลาย มีอยู่, ความเพลินอันนั้นเป็นอุปาทาน. เพราะอุปาทานของเขานั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ; เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ; เพราะชาติเป็นปัจจัย, ชรา มรณะ โศก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงเกิดมีพร้อม. ความก่อขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

- มู. ม. 12/487-488/452-453.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง