[Font : 15 ]
| |
ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่ทรงแสดงเพื่อไม่ให้รู้สึกว่ามีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา (เพื่อขจัดสัสสตทิฏฐิเป็นต้น)

ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่ทรงแสดงเพื่อไม่ให้รู้สึกว่ามีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา (เพื่อขจัดสัสสตทิฏฐิเป็นต้น)PTC36

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อาหาร 4 อย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของภูตสัตว์ทั้งหลาย, หรือว่า เพื่ออนุเคราะห์แก่สัมภเวสีสัตว์ทั้งหลาย. อาหาร 4 อย่างเป็นอย่างไรเล่า 4 อย่างคือ (1) กพฬีการาหาร ที่หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง, (2) ผัสสะ, (3) มโนสัญเจตนา, (4) วิญญาณ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อาหาร 4 อย่างเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของภูตสัตว์ทั้งหลาย, หรือว่า เพื่ออนุเคราะห์แก่สัมภเวสีสัตว์ทั้งหลาย.

ภิกษุโมลิยผัคคุนะ ได้ทูลถามขึ้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ใครเล่า ย่อมกลืนกินซึ่งวิญญาณาหาร พระเจ้าข้า ?”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสตอบว่า “นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า ‘บุคคลย่อมกลืนกิน’ ดังนี้ : ถ้าเราได้กล่าวว่า ‘บุคคลย่อมกลืนกิน’ ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ ที่ควรถามขึ้นว่า ‘ก็ใครเล่า ย่อมกลืนกิน (ซึ่งวิญญาณาหาร) พระเจ้าข้า ?’ ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้นเช่นนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่ออะไรเล่าหนอ’ ดังนี้แล้ว, นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา, คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ใครเล่า ย่อมสัมผัส พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคลย่อมสัมผัส” ดังนี้ : ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคล ย่อมสัมผัส” ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมสัมผัส พระเจ้าข้า?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “ผัสสะมี เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา. คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า “เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา (ความรู้สึกต่ออารมณ์)”, ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ใครเล่า ย่อมรู้สึกต่ออารมณ์ พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคลย่อมรู้สึกต่ออารมณ์” ดังนี้ : ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคลย่อมรู้สึกต่ออารมณ์” ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมรู้สึกต่ออารมณ์ พระเจ้าข้า?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีเวทนาพระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา, คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า “เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา (ความอยาก)”, ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ใครเล่า ย่อมอยาก พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : ย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคลย่อมอยาก” ดังนี้ : ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคลย่อมอยาก” ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมอยาก พระเจ้าข้า?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเรา ผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา. คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า “เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน (ความยึดมั่น)”, ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ใครเล่า ย่อมยึดมั่น พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคลย่อมยึดมั่น” ดังนี้ : ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคลย่อมยึดมั่น” ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมยึดมั่น พระเจ้าข้า ?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา. คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า “เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ” ดังนี้ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขุโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนผัคคุนา ! เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งผัสสายตนะ (แดนเกิดแห่งสัมผัส) ทั้ง 6 นั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งผัสสะ ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา ; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา ; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ;เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ ;เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ ; เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้, ดังนี้ แล.

หมายเหตุผู้รวบรวม : สูตรนี้ทั้งสูตร แสดงว่า ไม่มีบุคคลกลืนกินวิญญาณาหาร ไม่มีบุคคลที่เป็นเจ้าของอายตนะ ไม่มีบุคคลที่กระทำผัสสะ ไม่มีบุคคลที่เสวยเวทนา ไม่มีบุคคลที่อยากด้วยตัณหา ไม่มีบุคคลที่ยึดมั่นถือมั่น, มีแต่ธรรมชาติที่เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมอย่างหนึ่งๆ เป็นปัจจัย สืบต่อแก่กันและกันเป็นสายไป เท่านั้น.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ