[Font : 15 ]
| |
ปฏิจจสมุปบาท

1. พยัญชนะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยพยัญชนะ : คือ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น (ปฏิจจ=อาศัยแล้ว, สมุปบาท=เกิดขึ้นพร้อม.

2. อรรถะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยอรรถะ : คือ ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย ต้องมีการเกิดดับ ; การเกิดดับนั้นต้องอาศัยกันและกัน ของสิ่งที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน. คำนี้ใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต คือมีความรู้สึกสุขทุกข์ได้ ; ถ้าใช้รวมไปถึงสิ่งไม่มีชีวิตด้วย ก็ใช้คำว่า “อิทัปปัจจยตา” แทน.

3. ไวพจน์ : ปฏิจจสมุปบาทโดยไวพจน์ : คือ อิทัปปัจจยตา, ปฏิจจสมุปปันนธรรม, ปัจจยาการ, อุปนิสธรรม ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : ปฏิจจสมุปบาทโดยองค์ประกอบ : คือ ต้องมีสิ่งที่เป็นเหตุ, มีสิ่งที่เป็นผล, มีอาการที่ปรุงแต่งกัน และอาการที่ปรุงแต่งกันนั้นเนื่องกันเป็นสาย.

5. ลักษณะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยลักษณะ : มีความเกี่ยวเนื่องกันเหมือนลูกโซ่, มีลักษณะที่ลึกซึ้งเห็นได้ยาก ; ถ้าเห็นแล้ว จะเป็นการตรัสรู้เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้.

6. อาการ : ปฏิจจสมุปบาทโดยอาการ :

6.1 อาการของปฏิจจสมุปบาทที่กำหนดตามลักษณะ :

1. มีการปรุ่งแต่งกัน โดยความเป็นเหตุเป็นผลแก่กันเรื่องไป.

2. พฤติของการปรุงแต่งตามอาการของปฏิจจสมุปบาท เป็นไปในจิตรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ.

6.2 อาการของปฏิจจสมุปบาทที่กำหนดตามจำนวนแห่งอาการและปฏิจจสมุปปันนธรรมที่เกี่ยวกับการเกิดเหตุและผล : มี 3 แบบ : คือ

1. ปฏิจจสมุปบาทแบบพิเศษ39 : มี 8 อาการ เก้าปฏิจจสมุปปันนธรรม ได้แก่ปฏิจจสมุปบาทที่พระองค์ทรงนำมาสาธยาย (ทำนองเดียวกันกับเด็กท่องสูตรคูณ) และตรัสให้ถือเอาว่า เป็น อาทิพรหมจรรย์.

2. ปฏิจจสมุปบาทแบบที่รู้จักกันทั่วไป40 : มี 11 อาการ 12 ปฏิจจสมุปปันนธรรม.

3. ปฏิจจสมุปบาทแบบพิสดาร41 : ชื่อว่า อุปนิสธรรม : มี 23 อาการ 24 ปฏิจจสมุปปันนธรรม เป็นปฏิจจสมุปบาทซ้อนปฏิจจสมุปบาท มีอาการปรุงแต่งตั้งแต่สมุทยวารจนถึงนิโรธวาร แสดงให้เห็นอานิสงส์ของความทุกข์.

7. ประเภท : ปฏิจจสมุปบาทโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

นัยที่ 1 :

1. ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร : เป็นฝ่ายเกิดทุกข์.

2. ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร : เป็นฝ่ายดับทุกข์.

นัยที่ 2 :

1. ปฏิจจสมุปบาทของสิ่งมีชีวิต.

2. ปฏิจจสมุปบาทของสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก ; จนต้องเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อิทัปปัจจยตา.

7.2 แบ่งตามจำนวนแห่งอาการ และปฏิจจสมุปปันนธรรม : มี 3 แบบ :

1. ปฏิจจสมุปบาทแบบพิเศษ : มี 8 อาการ 9 ปฏิจจสมุปปันนธรรม.

2. ปฏิจจสมุปบาทแบบที่รู้จักกันทั่วไป : มี 11 อาการ 12 ปฏิจจสมุปปันนธรรม.

3. ปฏิจจสมุปบาทแบบพิสดาร (อุปนิสธรรม) : มี 23 อาการ 24 ปฏิจจสมุปปันนธรรม.

8. กฎเกณฑ์ : ปฏิจจสมุปบาทโดยกฎเกณฑ์ : คือ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่ได้มุ่งหมายจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ; มุ่งหมายแต่เพียงภาวะแห่งการปรุงแต่งกัน ระหว่างสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ให้ความหมายแก่คำว่าสุขหรือทุกข์ ; เพราะมันเป็นเพียงอาการแห่งการปรุงแต่งด้วยกันเท่านั้น. ต่อเมื่อจะนำมาใช้กับสิ่งมีชีวิต จึงบัญญัติให้มีสิ่งที่เรียกว่าทุกข์เกิดทุกข์ดับ และให้ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท ; ซึ่งเป็นเพียงกฎส่วนหนึ่งของกฎอิทัปปัจจยตา.

สรุปความว่า ถ้าใช้กับทุกสิ่ง เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ; ถ้าใช้เฉพาะกับสิ่งที่มีความรู้สึกต่อเวทนา เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท.

9. สัจจะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยสัจจะ :

9.1 การเห็นปฏิจจสมุปบาท : คือการเห็นธรรม. การเห็นธรรมอย่างนี้ คือการเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ; มิใช่พระพุทธเจ้าอย่างที่เป็นบุคคล.

9.2 การเห็นปฏิจจสมุปบาท : ต้องเห็นภายในอัตภาพของผู้เห็น ; เพราะเป็นการเห็นของความรู้สึก มิใช่เห็นด้วยตา.

9.3 การกระทำกรรมและการให้ผลของกรรม มีอยู่ในกระเสแห่งปฏิจจสมุปบาท. ควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ ก็อยู่เหนือกรรม หรือ เป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งหลาย. โลกและหมู่สัตว์ก็คือ กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง.

9.4 การทำให้เห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาทนั้น พระองค์ตรัสว่า : เป็นเรื่องเบื้องต้นของพรหมจรรย์ (อาทิพรหมจรรย์) ; แต่สาวกสมัยนี้ไม่เห็นอย่างนั้นและไม่ปฏิบัติตามนั้น.

9.5 ปฏิจจสมุปบาท : เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล ; มิใช่เรื่องของสัตว์ของบุคคล ; หรือตัวตนคนเดียวกันที่เกิดแล้วเกิดอีกข้ามภพข้ามชาติ.

9.6 ปฏิจจสมุปบาท : เป็นปรมัตถธรรมที่เป็นสันทิฏฐิโก ; ที่ต้องเห็นกันที่นี่ และเดี๋ยวนี้. แม้เพียงวันเดียวก็มีได้ตั้งหลายรอบ หรือหลายสิบรอบ : คือมีทุกคราวที่มีการรับอารมณ์ทางอายตนะ. ส่วนปฏิจจสมุปบาทชนิดข้ามภพข้ามชาตินั้น เป็นคำอธิบายใหม่เพื่อประโยชน์ทางศีลธรรม ; หาใช่ปรมัตถธรรมไม่ เพราะยังมีตัวตน.

9.7 ขันธ์ทั้ง 5 ที่มีอุปาทานยึดครอง และไม่มีอุปาทานยึดครอง มีครบอยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท. แต่ขันธ์ 5 ที่ไม่มีอุปาทานยึดครอง มีจำนวนอาการแห่งการปรุงแต่งน้อยกว่า ; เพราะไม่ปรุงแต่งไปจนตลอดสาย.

9.8 ในปฏิจจสมุปบาทกล่าวถึงสังขารเพียงครั้งเดียว ; แต่อาการปรุงแต่งที่เรียกว่า สังขารนั้น มีอยู่ทุกลำดับของอาการแห่งปฏิจจสมุปบาท.

9.9 เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) อันแจ่มแจ้งแก่พระอรหันต์ ; แต่เป็นปรัชญา (Philosophy) อันมืดมัวแก่ปุถุชน.

9.10 ปฏิจจสมุปบาทมีแต่ในฝ่ายสังขตธรรม ; ไม่มีในฝ่ายอสังขตธรรม.

9.11 ในปฏิจจสมุปบาทรอบวงหนึ่ง มีอาการแห่งวัฏฏะ 3 : คือ กิเลส - กรรม - วิบาก รวมอยู่ด้วยเสมอไปทุกรอบวง.

10. หน้าที่ : ปฏิจจสมุปบาทโดยหน้าที่ : กฎของธรรมชาติ มีหน้าที่ (โดยสมมติ) : บังคับธรรมชาติให้เป็นไป. ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นกฎของธรรมชาติ : จึงมีหน้าที่ตามสมควรแก่กรณีที่เกิดขึ้น.

11. อุปมา : ปฏิจจสมุปบาทโดยอุปมา :

11.1 มีอุปมาเหมือนห่วงลูกโซ่ที่คล้องกันเป็นสาย ต่างกันแต่ว่า แต่ละห่วงๆ ของปฏิจจสมุปบาท มีลักษณะอาการ หรือทำหน้าที่ต่างกัน ; และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน.

11.2 กฎของปฏิจจสมุปบาท : มีอุปมาเปรียบเสมือนสิ่งที่เขาเรียกกันว่า พระเป็นเจ้าผู้สร้างและควบคุมสิ่งทุกสิ่ง.

11.3 มีอุปมาดังตัวอย่าง : เพราะมีน้ำ - จึงมีไอน้ำ ; เพราะมีไอน้ำ - จึงมีเมฆ ; เพราะมีเมฆ - จึงมีฝน ; เพราะมีฝน - จึงมีการตกแห่งฝน ; เพราะมีการตกแห่งฝน - ถนนจึงลื่น ; เพราะถนนลื่น - เด็กจึงหกล้ม ฯลฯ

12. สมุทัย : ปฏิจจสมุปบาทโดยสมุทัย : เนื่องจากกฎปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎอสังขตะ : ดังนั้นจึงไม่มีสมุทัยของปฏิจจสมุปบาท. แต่กฎปฏิจจสมุปบาทเป็นสมุทัย : ทำให้คนต้องปฏิบัติธรรม.

13. อัตถังคมะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยอัตถังคมะ : เนื่องจากกฎปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎอสังขตะ ; ดังนั้นจึงไม่มีอัตถังคมะ. แต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทในสิ่งมีชีวิต ก็มีการดับไปเป็นคราวๆ เมื่อขาดปัจจัย คือ อวิชชา.

14. อัสสาทะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยอัสสาทะ : อัสสาทะไม่มีในตัวกฎของปฏิจจสมุปบาท : แต่มีได้ในตัวกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ของพาลชนบางคน.

15. อาทีนวะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยอาทีนวะ : อาทีนวะมีในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเฉพาะฝ่ายให้เกิดทุกข์ : ถึงกับเป็นนรกขึ้นมา ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง. พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า “สฬายตนิกนิริยา”.

16. นิสสรณะ : ปฏิจจสมุปบาทโดยนิสสรณะ :

16.1 การดำรงตนอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8.

16.2 การมีชีวิตอยู่ด้วยระบบสมถะและวิปัสสนา.

16.3 ความมีสติขณะแห่งผัสสะ.

17. ทางปฏิบัติ : ปฏิจจสมุปบาทโดยทางปฏิบัติ : เพื่อสกัดกั้นหรือดับกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ :

17.1 สรุปรวมอยู่ที่ความเป็นอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ; ควบคุมอายตนะด้วยปัญญา ; หรือสัมปชัญญะอย่างทันเวลา.

17.2 ความเป็นอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8, หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ; ที่เรียกกันว่าพรหมจรรย์.

17.3 การปฏิบัติอย่างที่ทำให้ "ตัวกู - ของกู" เกิดไม่ได้ ; ก็จะไม่มีตัวตนอันเป็นที่ตั้งแห่งกระแสปฏิจจสมุปบาท.

ทั้งหมดนี้ : เรียกว่า การเป็นอยู่โดยชอบ (สัมมาวิหาร) ; ที่ทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์.

18. อานิสงส์ : ปฏิจจสมุปบาทโดยอานิสงส์ :

18.1 การเห็นปฏิจจสมุปบาท : คือการเห็นธรรมที่เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ; ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท, ผู้นั้นเห็นธรรม ; ผู้ใดเห็นธรรม, ผู้นั้นเห็นเรา.” ทำให้มีพระพุทธเจ้านิรันดร อยู่กับเนื้อกับตัวเรา.

18.2 มีประโยชน์สูงสุด : คือ กำจัดเสียซึ่งอัตตานุทิฏฐิA42 หรือสักกายทิฏฐิA43 ; เพราะแสดงให้เห็นว่าชีวิตนี้มิใช่ตัวตน เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท.

18.3 กำจัดเสียได้ซึ่งมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย มีปุพพันตานุทิฏฐิA44 เป็นต้น ; กล่าวแสดงธรรมได้จากความรู้สึกของตน ไม่ต้องจำคำของศาสดามากล่าว ; และจะไม่ออกไปสู่ลัทธิอื่น ซึ่งดับทุกข์ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท.

18.4 ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ช่วยให้ถึงที่สุดจบแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา.

18.5 การปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท ทำให้บรรลุถึงกรรมไม่ดำไม่ขาว ; อันเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำ กรรมขาว.

19. หนทางถลำ : ปฏิจจสมุปบาทโดยหนทางถลำ :

นัยที่ 1 : เข้าสู่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ :

1. ความปราศจากสติในขณะแห่งผัสสะ.

2. การไม่ได้คบสัตบุรุษ.

นัยที่ 2 : เข้าสู่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์ :

1. ความีสติในขณะแห่งผัสสะ.

2. การได้คบสัตบุรุษ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ปฏิจจสมุปบาทโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ในการที่จะไม่ตกเข้าไปสู่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท :

20.1 ความไม่ประมาทในที่ทุกสถาน.

20.2 การกระทำทุกอย่าง ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ปฏิจจสมุปบาทโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : อธิบายกันอย่างคร่อมภพคร่อมชาติ เพื่อประโยชน์ทางศีลธรรม.

ภาษาธรรม : เป็นเรื่องของขณะจิต : ไม่ต้องคร่อมภพคร่อมชาติ เป็นปรมัตถธรรม.

21.2 ภาษาคน : เป็นการเกิดดับของชีวิต.

ภาษาธรรม : เป็นการเกิดดับของตัวกู.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์

2. ปฏิปทาปริทรรศน์

3. อิทัปปัจจยตา

4. โอสาเรตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง