[Font : 15 ]
| |
ทุกข์ดับ เพราะเห็นอุปาทานิยธรรมโดยความเป็นอาทีนวะ

ทุกข์ดับ เพราะเห็นอุปาทานิยธรรมโดยความเป็นอาทีนวะPTC102

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุเป็นผู้มีปรกติ เห็นโดยความเป็นอาทีนวะ (โทษอันต่ำทราม) ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานอยู่, ตัณหาย่อมดับ. เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ ; เพราะมีความดับแห่งชาติเป็นนั่นแล, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนไฟกองใหญ่ พึงลุกโพลงด้วยไม้ 10 เล่มเกวียนบ้าง 20 เล่มเกวียนบ้าง 30 เล่มเล่มเกวียนบ้าง 40 เล่มเล่มเกวียนบ้าง. บุรุษไม่พึงเติมหญ้าแห้งบ้าง ไม่พึงเติมมูลโคแห้งบ้าง ไม่พึงเติมไม้แห้งบ้าง ลงไปในกองไฟนั้น ตลอดเวลาที่ควรเติมอยู่เป็นระยะๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ไฟกองใหญ่นั้นไหม้เชื้อเพลิงเก่าหมดแล้วด้วยไม่มีเชื้ออื่นมาเติมด้วย เป็นไฟหมดเชื้อหล่อเลี้ยงแล้ว ดับไป, ข้อนี้ฉันใด ; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุเป็นผู้มีปรกติ เห็นโดยความเป็นอาทีนวะ (โทษอันต่ำทราม) ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานอยู่, ตัณหาย่อมดับ. เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ ; เพราะมีความดับแห่งชาติ, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้, ดังนี้ แล.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ยังมีสูตรอีกสูตรหนึ่ง (คือสูตรที่ 5 แห่งทุกขวรรค อภิสมยสังยุตต์ นิทาน. สํ. 16/106/208) แสดงข้อธรรมข้อเดียวกันกับสูตรข้างบนนี้ ต่างกันแต่อุปมา : แทนที่จะอุปมาด้วยไฟกองใหญ่หมดเชื้อดังในสูตรข้างบนนี้ แต่ทรงอุปมาด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ถูกทำลายหมดสิ้น เหมือนอุปมาในหัวข้อว่า “จิตสัตว์ยุ่งเป็นปม เพราะไม่เห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาท”

อนึ่ง ยังมีสูตรอีกสูตรหนึ่ง (สูตรที่ 6 ทุกขวรรค อภิสมยสังยุตต์ นิทาน. สํ. 16/107/211) มีใจความเหมือนสูตรข้างบนนี้ทุกประการ ผิดกันแต่ว่าทรงเริ่มข้อความด้วยคำอุปมาก่อน แล้วจึงกล่าวถึงข้อธรรมซึ่งเป็นตัวอุปไมย.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ