[Font : 15 ]
| |
ทรงอยู่เหนือการครอบงำของเวทนา มาตั้งแต่ออกผนวชจนตรัสรู้ |  

อัคคิเวสสนะ ! ก็บุคคลมีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นอย่างไรเล่า? อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนา เกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้มีการสดับ ในธรรมวินัยนี้; อริยสาวกนั้น อันสุขเวทนาถูกต้องอยู่ เป็นผู้ไม่กำหนัดยินดีในความสุข ไม่ถึงความกำหนัดยินดีในความสุข. สุขเวทนาของอริยสาวกนั้นย่อมดับ, เพราะความดับแห่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา ย่อมเกิดขึ้น; อริยสาวกนั้น อันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกร่ำไห้ ไม่ถึงซึ่งความหลง. อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนานั้นแม้เกิดขึ้นแล้วแก่อริยสาวกนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะความเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว; ทุกขเวทนา แม้เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะความเป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว, อัคคิเวสสนะ! เพราะเหตุที่ว่า สุขเวทนาก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ และทุกขเวทนาก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ โดยทั้ง 2 ประการดังกล่าวแล้ว เขาย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว ดังนี้.

"พระโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสแล้วในพระโคดมผู้เจริญ เพราะเหตุว่าพระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้มีกายอันอบรมแล้วด้วย มีจิตอันอบรมแล้วด้วย".

อัคคิเวสสนะ! คำนี้ท่านกล่าวพาดพิงถึงเราโดยแท้ เราจะพูดให้แจ้งชัดเสียเลยว่า อัคคิเวสสนะ! จำเดิมแต่เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือน; ข้อที่ สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ หรือว่าข้อที่ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้วจะครอบงำ จิตของเราตั้งอยู่ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สุขเวทนาชนิดที่เกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดแก่พระสมณโคดม เป็นแน่. ทุกขเวทนาชนิดที่เกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดแก่พระสมณโคดมเป็นแน่".

อัคคิเวสสนะ ! ทำไมมันจะมีไม่ได้เล่า.... (ต่อจากนี้ ก็ทรงเล่าเรื่องการออกผนวช, การค้นหาสำนักเพื่อการศึกษาของพระองค์ คืออาฬารดาบส กาลามโคตร อุทกดาบส รามบุตรจนกระทั่งทรงบำเพ็ญอัตตกิลมถานุโยคตามแบบฉบับที่เรียกกันว่าวัตรแห่งนิครนถ์, เกิดอุปมาแจ่มแจ้งในทางที่จะให้หลีกออกจากกาม, แล้วทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างเข้มงวด มีทุกขเวทนาแก่กล้า ซึ่งทรงยืนยันว่า แม้กระนั้นก็ไม่ครอบงำจิตของพระองค์ตั้งอยู่; เมื่อเลิกทุกรกิริยาแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต เกิดความสุขจากรูปฌาน 4 และวิชชา 3 แม้จะเป็นสุขเวทนาอันสูงสุด ก็ไม่สามารถครอบงำ จิตของพระองค์ตั้งอยู่ สมกับที่ทรงยืนยันว่า ไม่มีเวทนาชนิดใดเกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตของพระองค์ ตั้งอยู่ได้ ดังข้อความต่อไปนี้ :-)

อัคคิเวสสนะ ! ...เรานั้น ขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่นจนร้อนจัด. อัคคิเวสสนะ! ครั้นเราขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่นจนร้อนจัดแล้ว, เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง.

อัคคิเวสสนะ ! ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เราก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่. ....

อัคคิเวสสนะ ! เรานั้น กลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปกาและทางจมูก.อัคคิเวสสนะ !ครั้นเรากลั้นลมหายใจทั้งทางปากและทางจมูกแล้ว, เสียงลมออกทางช่องหูทั้งสอง ดังเหลือประมาณเหมือนเสียงลมในสูบแห่งนายช่างทองที่สูบไปสูบมาฉะนั้น. อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่. ....

อัคคิเวสสนะ ! เรานั้น กลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหูทั้งสอง. อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหูทั้งสองแล้ว, ลมกล้าเหลือประมาณ แทงเซาะขึ้นไปทางบนกระหม่อมเหมือนถูกบุรุษแข็งแรง เชือดเอาที่แสกกระหม่อมด้วยมีดโกนอันคมฉะนั้น. อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียรเราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่. ....

อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหูทั้งสองแล้ว, รู้สึกปวดศีรษะทั่วไปทั้งศีรษะเหลือประมาณ เปรียบปานถูกบุรุษแข็งแรง รัดศีรษะเข้าทั้งศีรษะด้วยเชือกมีเกลียวอันเขม็งฉะนั้น. อัคคิเวสสนะ!แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยาก เสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ ....

อัคคิเวสสนะ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูก และทางช่องหูทั้งสองแล้ว, ลมกล้าเหลือประมาณหวนกลับลงแทงเอาพื้นท้อง ดุจถูกคนฆ่าโคหรือลูกมือตัวขยันของเขา เฉือนเนื้อพื้นท้องด้วยมีดสำหรับเฉือนเนื้อโคอันคมฉะนั้น. อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่. ....

อัคคิเวสสนะ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ทั้งทางปากทางจมูกและทางช่องหูทั้งสอง, ก็เกิดความร้อนกล้าขึ้นทั่วกาย ดุจถูกคนแข็งแรงสองคน ช่วยกันจับคนกำลังน้อยที่แขนข้างละคนแล้ว ย่างรมไว้เหนือหลุมถ่านเพลิงอันระอุฉะนั้น.อัคคิเวสสนะ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เราก็ไม่ตรอบงำจิตตั้งอยู่.

(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการได้รับสุขเวทนาแล้วสุขเวทนานั้นไม่ตรอบงำจิตตั้งอยู่ อีก 7 วาระ :-)

อัคคิเวสสนะ! เรากลืนกินอาหารหยาบ ทำกายให้มีกำลังได้แล้ว,เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรม ท. จึงเข้าถึง ฌานที่ 1 อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่.

อัคคิเวสสนะ! เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงเข้าถึง ฌานที่ 2 เป็นเครื่องผ่องใสในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เราก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่.

อัคคิเวสสนะ! เพราะความจางไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย จึงเข้าถึง ฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้า-กล่าวว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่ เป็นสุข แล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่.

อัคคิเวสสนะ! และเพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงเข้าถึง ฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่.

เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลสเป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว เราได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. ---ฯลฯ--- อัคคิเวสสนะ! นี้เป็นวิชชาที่ 1 ที่เราได้บรรลุแล้วในยามแรกแห่งราตรี. อวิชชาถูกทำลายแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว, ความมืดถูกทำลายแล้ว ความสว่างเกิดขึ้นแทนแล้ว, เช่นเดียวกับที่เกิดแก่ผู้ไม่ประมาท มีเพียรเผาบาป มีตนส่งไปแล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่.

เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลสเป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้วเราได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อ จุตูปปาตญาณ. ---ฯลฯ อัคคิเวสสนะ! นี้เป็นวิชชาที่ 2 ที่เราได้บรรลุแล้วในยามกลางราตรี. อวิชชาถูกทำลายแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว, ความมืดถูกทำลายแล้ว ความสว่างเกิดขึ้นแทนแล้ว, เช่นเดียวกับที่เกิดแก่ผู้ไม่ประมาท มีเพียรเผาบาป มีตนส่งไปแล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่.

เรานั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว เราได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อ อาสวักขยญาณ. ---ฯลฯ- อัคคิเวสสนะ! นี้เป็นวิชชาที่ 3 ที่เราได้บรรลุแล้วในยามปลายแห่งราตรี. อวิชชาถูกทำลายแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว, ความมืดถูกทำลายแล้ว ความสว่างเกิดขึ้นแทนแล้ว, เช่นเดียวกับที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีเพียรเผาบาป มีตนส่งไปแล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่.

(รายละเอียดเกี่ยวกับวิชชาทั้ง 3 ที่กล่าวมานี้ โดยครบถ้วนพิสดารทุกตัวอักษร ผู้ประสงค์จะหาอ่านได้จากหน้า 115 ถึงหน้า 117 แห่งหนังสือเล่มนี้.)

- บาลี มู.ม. 12/440/409. ตรัสแก่สัจจกนิคันถบุตร ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง