[Font : 15 ]
| |
รู้จักเลือก : “สังฆทานดีกว่า !” |  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ทานประจำสกุลวงศ์ข้าพระองค์ยังให้อยู่ แต่ว่าทานนั้นข้าพระองค์ให้เฉพาะหมู่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้ปฏิบัติอรหัตตมรรค ที่อยู่ป่า ที่ถือบิณฑบาต ที่ถือผ้าบังสุกุล เป็นวัตร.”

คหบดี ! ข้อที่จะรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นพระอรหันต์หรือปฏิบัติอรหัตตมรรคนั้น เป็นสิ่งที่รู้ได้ยากสำหรับท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ผู้ยังมีการนอนเบียดบุตร บริโภคใช้สอยกระแจะจันทน์และผ้าจากเมืองกาสี ทัดทรงมาลาและเครื่องกลิ่นและเครื่องผัดทา ยินดีอยู่ด้วยทองและเงิน.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้ อยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าเป็นผู้ ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก พูดมาก มีวาจาไม่แน่นอน มีสติลืมหลง ปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว : ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น ควรถูกติเตียนด้วยองค์นั้น ๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้ อยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าเป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก มีวาจาแน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีเอกัคคตาจิต สำรวมอินทรีย์ : ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นอันใคร ๆ ควรสรรเสริญด้วยองค์นั้น ๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้ อยู่ใกล้บ้าน ก็ดี …. บิณฑบาตเป็นวัตร ก็ดี …. ฉันในที่นิมนต์ ก็ดี …. ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ดี …. นุ่งห่มคหบดีจีวร ก็ดี ถ้าเป็นผู้ ฟุ้งซ่าน ถือตัว กลับกลอก พูดมาก มีวาจาไม่แน่นอน มีสติลืมหลง ปราศจากสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด มีอินทรีย์อันปล่อยแล้ว : ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้น ควรถูกติเตียนด้วยองค์นั้น ๆ.

คหบดี ! ถึงแม้ภิกษุจะเป็นผู้ อยู่ใกล้บ้าน ก็ดี …. บิณฑบาตเป็นวัตร ก็ดี …. ฉันในที่นิมนต์ ก็ดี …. ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ดี …. นุ่งห่มคหบดีจีวร ก็ดี ถ้าเป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่กลับกลอก ไม่พูดมาก มีวาจาแน่นอน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีเอกัคคตาจิต สำรวมอินทรีย์ : ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนั้นอันใคร ๆ ควรสรรเสริญด้วยองค์นั้น ๆ.

เอาละ, คหบดี ! ท่านจงถวายทานในสงฆ์เถิด. เมื่อท่านถวายทานในสงฆ์อยู่, จิตจักเลื่อมใส ; ท่านเป็นผู้มีจิตอันเลื่อมใสแล้ว ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! จำเดิมแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์จะถวายทานในสงฆ์”.

- ฉกฺก. อํ. 22/436 - 438/330.

(ข้อความทั้งหมดนี้แสดงว่า พระองค์ทรงแนะให้ถวายทานด้วยตั้งใจว่า ถวายแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็น “สังฆทาน” อย่าไปเห็นว่าถวายแก่พระบ้านหรือพระป่า พระบิณฑบาตฉันหรือพระฉันในที่นิมนต์ พระจีวรดำ หรือพระจีวรเหลือง ; และไม่อยู่ในวิสัยที่คฤหัสถ์สามารถตัดสินเอาว่า องค์ไหนเป็นพระอรหันต์ องค์ไหนไม่เป็น ; ดังนั้น จึงทรงแนะให้ทำในใจว่า “ถวายแก่สงฆ์” เป็นสังฆทาน ดีกว่า).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง