[Font : 15 ]
| |
อุปาทาน

1. พยัญชนะ : อุปาทานโดยพยัญชนะ : คือ การเข้าไปยึดถือเอา (ด้วยจิตใจว่าตัวตน).

2. อรรถะ : อุปาทานโดยอรรถะ : คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา ว่าเป็นตัวตน ของตน. ความสำคัญมั่นหมายในคุณค่าของสิ่งต่างๆ อย่างผิดตรงกันข้ามจากความจริง ด้วยอำนาจของอวิชชาหรือมิจฉาทิฏฐิ.

3. ไวพจน์ : อุปาทานโดยไวพจน์ :

3.1 อภินิเวส (การฝังตัวเข้าไป).

3.2 มัญญนะ (ความสำคัญมั่นหมาย).

3.3 สัญญาหรือสัญญิตัตตะ (ความสำคัญตามอำนาจแห่งความจำหมาย แม้ที่สุดแต่คำว่านันทิ และฉันทราคะ ฯลฯ).

4. องค์ประกอบ : อุปาทานโดยองค์ประกอบ :

1. วัตถุเป็นที่ตั้งของอุปาทาน.

2. อวิชชา หรือมิจฉาทิฏฐิซึ่งเป็นเหตุให้สำคัญผิด.

3. ความปราศจากสติอันเป็นโอกาสแห่งความยึดถือ.

4. ตัณหา ราคะ อันเป็นอาการแห่งความยึดถือ.

5. ลักษณะ : อุปาทานโดยลักษณะ :

5.1 ความยึดมั่นด้วยอวิชชา, ตัณหา, มานะ, ทิฏฐิว่าเป็นตัวตน - ของตน ; (อัตตา - อัตตนียา, อหังการ - มมังการ) ; ซึ่งมีได้แม้ในสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน.

5.2 ความรู้สึกที่ยึดมั่นในความเป็นของคู่ทุกคู่ เช่น บวก - ลบ, บุญ - บาป, ดี - ชั่ว, สุข - ทุกข์, ได้ - เสีย, แพ้ - ชนะ, หญิง - ชาย, ชีวิต - ไม่มีชีวิต ฯลฯ

6. อาการ : อุปาทานโดยอาการ :

6.1 มีได้หลายรูปแบบ เช่น : ผูกพัน, ห่อหุ้ม, รัดรึง, ครอบงำ, เมาหมก ฯลฯ.

6.2 ทำให้เกิดภพ (ความเป็น) ต่างๆ อย่างนั้นอย่างนี้ได้ ตามความต้องการของตัณหา.

6.3 แม้จะมีอาการออกมาในรูปของความดีใจหรือเสียใจ, สุขหรือทุกข์, รักหรือเกลียด ฯลฯ ก็ยังเป็นอาการของอุปาทานอยู่นั่นเอง.

6.4 มีอาการทำให้เกิดความหมายผิดตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอย่างกลับกันทีเดียว ; เช่น ไม่ใช่ของเราว่าของเรา ; ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ; อนัตตาว่าอัตตา ; ทุกข์ว่าสุข ฯลฯ ; กระทั่งเห็นเป็นอย่างอื่นไป เช่น เห็นเชือกเป็นงู, เห็นงูเป็นปลา, เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ฯลฯ ; เห็นน้อยเป็นมาก, เห็นสำคัญน้อยเป็นสำคัญมาก, เห็นเจือจางเป็นเข้มข้น เป็นต้น.

7. ประเภท : อุปาทานโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

1. ยึดมั่นว่าตัวตน (อัตตา, อหังการ).

2. ยึดมั่นว่าของตน (อัตตนียา, มมังการ).

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. ยึดมั่นด้วยตัณหา (เอานั่น เอานี่).

2. ยึดมั่นด้วยมานะ (เป็นนั่น เป็นนี่).

3. ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ (ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้).

7.3 แบ่งโตยประเภทสี่ :

1. กามุปาทาน (ยึดมั่นว่าน่าใคร่).

2. ทิฏฐุปาทาน (ยึดมั่นในความคิดเห็น).

3. สีลัพพตุปาทาน (ยึดมั่นผิดความหมายที่แท้จริงของศีล และวัตรนั้นๆ).

4. อัตตวาทุปาทาน (ยึดมั่นว่าตัวตน).

8. กฎเกณฑ์ : อุปาทานโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 ต้องเกิดจากอวิชชา, สัญญา, ตัณหา.

8.2 มิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา เกิดต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย.

8.3 มีอุปาทานียธรรมทั้งหลาย คือขันธ์ห้าเป็นต้น และนิพพานเป็นที่สุด; เป็นที่ตั้งแห่งการเกิด.

8.4 สละอุปาทานในสิ่งใดชื่อว่าสละสิ่งนั้น มิใช่เพียงแต่โยนสิ่งนั้นทิ้งไปโดยไม่ได้เลิกอุปาทาน (ดังนั้น มีสิ่งใดไว้ในความยึดครองตามกฎหมายโดยไม่ต้องมีอุปาทานในสิ่งนั้นก็ได้).

8.5 จะมีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของก็ต้องไม่มีอุปาทานในสิ่งใดๆ ไม่ว่าในทางบวกหรือในทางลบ.

9. สัจจะ : อุปาทานโดยสัจจะ :

9.1 อุปาทานเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ตามสัญชาตญาณ จึงเป็นการยากที่จะป้องกันหรือควบคุม.

9.2 เมื่อมีการเสวยอารมณ์ทางอายตนะจึงจะเกิดความรู้สึกโดยอุปาทานว่ามีผู้กระทำ (ผู้เสวยอารมณ์) ; และผู้ถูกกระทำ (สิ่งที่ถูกเสวย) ขึ้นมาทีหลัง ; แต่เขาจะเข้าใจผิดว่าผู้กระทำมีอยู่ก่อน แล้วเสวยอารมณ์ ; หารู้ไม่ว่าความรู้สึกที่เป็นตัวผู้เสวยอารมณ์นั้น เกิดทีหลังการเสวยอารมณ์ ; หมายความว่า มันมิได้มีตัวอยู่หรือรอคอยอยู่เพื่อการเสวยอารมณ์. (คนธรรมดาจึงไม่อาจจะเข้าใจได้ว่า ผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ).

9.3 อุปาทานย่อมเกิดจากตัณหา ที่ตั้งต้นมาตั้งแต่อวิชชาสัมผัสของอายตนะนั้นๆ.

9.4 ยึดมั่นในสิ่งใด, อย่างไร, เมื่อไร, เท่าใด, ที่ไหน ; สิ่งนั้นแหละมันกัด, อย่างนั้น, เมื่อนั้น, เท่านั้น, ที่นั้น.

9.5 ไม่ยึดมั่นในสิ่งใดย่อมมีสันทิฏฐิกนิพพานเฉพาะตนในกรณีนั้น, กาละนั้น, เทศะนั้น, ตามสมควรเสมอไป.

9.6 อุปาทานนี้มีได้แม้ในนิพพาน ทั้งที่ผู้นั้นยังไม่รู้จักนิพพานอย่างถูกต้อง ; (เช่นรู้จักเพียงสักว่าชื่อตามคำบอกเล่า).

9.7 กิริยาของอุปาทานในความหมายที่ถูกต้อง (ไม่เป็นไปเพื่อทุกข์) ; มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นว่า “สมาทาน”.

10. หน้าที่ : อุปาทานโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของอุปาทาน :

1. อุปาทานมีหน้าที่ทำให้เกิดทุกข์เท่านั้น.

2. อุปาทานมีหน้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอัตตา ว่าตัวตน ; จึงเป็นเหตุให้เกิดมีความรู้สึกว่าอัตตนียา ว่าของตน.

3. อุปาทานมีหน้าที่ผูกพันสัตว์ให้ติดอยู่ในภพ, ในชาติ, ในโลก, ในทุกข์ทุกชนิด.

10.2 หน้าที่โดยตรงของมนุษย์ที่มีต่ออุปาทาน : คือ การตัดหรือทำลายอุปาทานเสียด้วยวิชชา หรือสัมมาทิฏฐิหรือผลของวิปัสสนา.

11. อุปมา : อุปาทานโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 การหิ้วของหนักโดยไม่รู้สึกตัวแล้วสมัครจะหิ้ว.

11.2 ลูกศรดอกที่ 2 (อาบยาพิษ ในเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับลูกศรดอกแรก ซึ่งมิได้อาบยาพิษ).

11.3 โซ่ตรวน ขื่อคาทางวิญญาณ (มิใช่ทางกาย).

11.4 การผูกที่ไม่เห็นเงื่อนปมที่จะแก้.

11.5 งู 4 ตัวรัดให้แน่นติดอยู่กับกาม ทิฏฐิ ความงมงาย และตัวตน.

11.6 ตังเหนียวทางวิญญาณ เครื่องตักสัตว์ให้ติดกับอายตนะนั้นๆ.

12. สมุทัย : อุปาทานโดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยใกล้ชิดที่สุด : ได้แก่ ฉันทราคะในแง่บวก (ความสมหวัง) และแง่ลบ (ความผิดหวัง).

12.2 สมุทัย ใกล้ชิด : คือ ตัณหา.

12.3 สมุทัยห่างไกลที่เป็นรากเหง้า : คือ อวิชชา.

13. อัตถังคมะ : อุปาทานโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรม หรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 ความปรากฏแห่งญาณทั้งหลายในขณะแห่งวิปัสสนา นับตั้งต้นตั้งแต่ไตรลักษณญาณ จนกระทั่งถึงอตัมมยตา.

13.3 เมื่อพบคู่ปรับ คือ ธัมมัฏฐิติญาณและนิพพานญาณ.

14. อัสสาทะ : อุปาทานโดยอัสสาทะ :

14.1 การได้อารมณ์, ได้การกระทำ, ได้เสวยรสตามที่ตัณหาอุปาทานต้องการ.

14.2 อัสสาทะที่ตรงกันข้ามจากอัสสาทะของอนุปาทาน ซึ่งนำไปสู่นิพพานโดยส่วนเดียว.

15. อาทีนวะ : อุปาทานโดยอาทีนวะ :

15.1 ทำให้กลายเป็นภาระหนักขึ้นในทุกสิ่งที่เข้าไปยึดถือ ; แม้จะเป็นฝ่ายบุญกุศลหรือสุข.

15.2 เป็นเหตุให้เกิดชาติอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ทุกความหมาย.

15.3 เป็นตัวการที่ทำให้ชีวิตกลายเป็นสัตว์ที่กัดเจ้าของไปเสียทุกๆ กรณี.

15.4 ทำให้คนกลายเป็นนักโทษติดคุกของตนเอง.

16. นิสสรณะ : อุปาทานโดยนิสสรณะ :

16.1 ทางออกจากอำนาจของอุปาทาน คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ; ถ้าเลือกเอาเพียงองค์เดียวก็คือ สัมมาทิฏฐิ.

16.2 ถ้าเป็นการทำลายอำนาจของอุปาทานโดยตรง ก็ใช้ข้าศึกของอุปาทาน คือ วิราคธรรมเป็นเครื่องทำลาย.

17. ทางปฏิบัติ : อุปาทานโดยทางปฏิบัติ : เพื่อละอุปาทาน :

17.1 เอกายมรรคเพื่อความหมดจดแห่งทัศนะ ได้แก่ การดำเนินอยู่ในสติปัฏฐานทั้งสี่ เห็นไตรลักษณ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นตามลำดับ.

17.2 การปฏิบัติเพื่อเกิดลำดับญาณทัสสนะเก้าขั้นตอน หรือ 9 “ตา” คือ : อนิจจตา, ทุกขตา, อนัตตตา, ธัมมัฏฐิตตา, ธัมมนิยามตา, อิทัปปัจจยตา, สุญญตา, ตถาตา และอตัมมยตา.

17.3 มีการปฏิบัติในการเห็นโลก (สิ่งทั้งปวง) โดยความเป็นของว่างจากตัวตน (สุญญตา) ซึ่งเป็นการถอนอัตตานุทิฏฐิอยู่เป็นประจำ.

18. อานิสงส์ : อุปาทานโดยอานิสงส์ :

นัยที่ 1 : อานิสงส์โดยอ้อมตามประสาชาวโลก : คือ อุปาทานทำให้เกิดกำลังเต็มที่ในการปฏิบัติงาน แต่ต้องอยู่ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า “สมาทาน” จึงจะปลอดภัย.

นัยที่ 2 : อานิสงส์ของการละอุปาทาน :

1. การหลุดพ้นจากความทุกข์และปัญหาทั้งปวง.

2. ภาวะที่ปราศจากอุปาทาน หมายถึง ภาวะที่ปราศจากอวิชชา ; ย่อมไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดหรือเกิดทุกข์.

19. หนทางถลำ : อุปาทานโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความมีอุปาทาน :

19.1 ความไม่รู้จักและความไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของสัญชาตญาณเอาเสียเลย.

19.2 ความไวต่อความรู้สึกที่เป็นบวกเป็นลบเร็วเกินไป จนไม่มีโอกาสแห่งการตั้งตัวของสติ.

19.3 การอยู่ในสังคมที่มีค่านิยมอย่างโลกๆ มากเกินไป จนไม่รู้จักค่านิยมทางฝ่ายธรรมะเอาเสียเลย.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อุปาทานโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 เพื่อการเกิดหรือมีอุปาทาน : คือ อุปาทานียธรรม (เช่น ขันธ์ ฯลฯ), และอวิชชา, ตัณหา (ผู้ซึ่งจะถือเอา).

20.2 เพื่อป้องกันหรือละอุปาทาน : คือ สติและยถาภูตญาณทัสสนะ ซึ่งมีแล้วทำให้ไม่ยึดถืออะไร.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อุปาทานโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : ความรู้สึกที่หลอกหลอนตัวเอง หรือโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น.

ภาษาธรรม : ความสำคัญผิดว่าตัวตนด้วยอำนาจของอวิชชา.

21.2 ภาษาคน : เป็นเรื่องผีหลอก.

ภาษาธรรม : เป็นเรื่องความโง่ของตัวเอง.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมบรรยายฯ เล่ม 1, 2

2. ธรรมะเล่มน้อย

3. มาฆบูชาเทศนา เล่ม 1

4. โมกขธรรมประยุกต์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง