[Font : 15 ]
| |
เวทนาในปฏิจจสมุปบาท ให้เกิดอนุสัย 3

เวทนาในปฏิจจสมุปบาท ให้เกิดอนุสัย 3PTC85

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! (1) เพราะอาศัยตาด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ ; การประจวบพร้อมด้วยแห่งธรรม 3 ประการ (ตา+รูป+จักขุวิญญาณ) นั่นคือผัสสะ ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไ่ม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.

บุคคลนั้น เมื่อสุขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญเมาหมกอยู่ ; อนุสัยคือราคะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น (ตสฺส ราคานุสโย อนุเสติ) ;

เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่ ; อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น ;

เมื่อเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขถูกต้องอยู่ เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริงซึ่งเหตุให้เกิดเวทนานั้นด้วย ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนานั้นด้วย ซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอาทีนวะ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย ; อนุสัยคืออวิชชา ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น ;

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลนั้นหนอ ยังละราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนาไม่ได้ ; ยังบรรเทาปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนาไม่ใด้; ยังถอนอวิชชานุสัยอันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้; เมื่อยังละอวิชชาไม่ใด้ และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว. เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ใด้ นั้น ; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! (2) เพราะอาศัยหูด้วย เสียงทั้งหลายด้วย จึงเกิดโสตวิญญาณ ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม 3 ประการ (หู+เสียง+โสตวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ ; ...(ข้อความตอนต่อไปนี้ เหมือนข้อความที่มีอยู่ไนข้อ (1) อันว่าด้วยรูป เรื่อยไปทั้ง 4 ย่อหน้า จนถึงตอนท้ายข้อ ที่ว่า) ...ฯลฯ...ฯลฯ... จักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม(ปัจจุบัน) นี้ได้ นั้น ; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! (3) เพราะอาศัยจมูกด้วย กลิ่นทั้งหลายด้วย จึงเกิดฆานวิญญาณ ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม 3 ประการ (จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ ; ...(ข้อความตอนต่อไปนี้ เหมือนข้อความที่มีอยู่ไนข้อ (1) อันว่าด้วยรูป เรื่อยไปทั้ง 4 ย่อหน้า จนถึงตอนท้ายข้อ ที่ว่า) ...ฯลฯ...ฯลฯ.... จักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ได้ นั้น ; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! (4) เพราะอาศัยลิ้นด้วย รสทั้งหลายด้วย จึงเกิดชิวหาวิญญาณ ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม 3 ประการ (ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ ; ..(ข้อความตอนต่อไปนี้ เหมือนข้อความที่มีอยู่ในข้อ (1) อันว่าด้วยรูป เรื่อยไปทั้ง 4 ย่อหน้า จนถึงตอนท้ายข้อ ที่ว่า) ...ฯลฯ...ฯลฯ... จักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ได้ นั้น ; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! (5) เพราะอาศัยกายด้วย โผฏฐัพพะทั้งหลายด้วย จึงเกิดกายวิญญาณ ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม 3 ประการ (กาย+โผฏฐัพพะ+กายวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ ; ... (ข้อความตอนต่อไปนี้ เหมือนข้อความที่มีอยู่ในข้อ (1) อันว่าด้วยรูป เรื่อยไปทั้ง 4 ย่อหน้า จนถึงตอนท้ายข้อ ที่ว่า) ฯลฯ...ฯลฯ... จักทำที่สุดแห่งทุกข์ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ได้ นั้น ; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! (6) เพราะอาศัยใจด้วย ธัมมารมณ์ทั้งหลายด้วย จึงเกิดมโนวิญญาณ ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม 3 ประกาย (ใจ+ธมมารมณ์+มโนวิญญาณ) นั่นคือ ผัสสะ ; ... เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.

บุคคลนั้น เมื่อสุขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ; อนุสัยคือราคะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น ;

เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่ ; อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น ;

เมื่อเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขถูกต้องอยู่ เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริงซึ่งเหตุให้เกิดเวทนานั้นด้วย ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนานั้นด้วย ซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอาทีนวะ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย ; อนุสัยคืออวิชชา ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น ;

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลนั้นหนอ ยังละราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนาไม่ได้ ; ยังบรรเทาปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนาไม่ได้ ; ยังถอนอวิชชานุสัยอันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้; เมื่อยังละอวิชชาไม่ได้ และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว; เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ได้ นั้น ; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า เราเคยเข้าใจและสอนกันอยู่ในเวลานี้ว่า อนุสัยนั้นคือตะกอน นอนอยู่ในสันดานตลอดเวลา พอได้อารมณ์ก็ลุกออกมาเป็นกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ แล้วกลับไปนอนรออยู่ต่อไปอีก จนกว่าจะได้อารมณ์อันใหม่อีก (ในลักษณะอาการของสัสสตทิฏฐิ) เช่นนี้ ดูไม่ตรงตามพระพุทธภาษิตในสูตรนี้ ซึ่งตรัสว่า เมื่อเสวยเวทนาใด จึงเกิดอนุสัยขึ้นตามนอน (คือเพิ่มความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลสชื่อนั้นๆ แก่บุคคลนั้น) ; และทรงระบุชัดว่าบุถุชนธรรมดา ถ้าเสวยสุขเวทนา จะเพิ่ม ราคานุสัย (แก่กิเลสประเภทโลภะทุกชนิด); เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา จะเพิ่มอวิชชานุสัย (แก่กิเลสประเภทโมหะทุกชนิด) ข้อนี้หมายความว่า จะเพิ่มความเคยชินหรือความง่ายดาย ในการเกิดกิเลสชื่อนั้นๆ ยิ่งขึ้นทุกทีนั่นเอง. และพึงสังเกตเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งด้วย ว่าสำหรับราคานุสัย ทรงใช้คำว่า “ละ”, ปฏิฆานุสัย ใช้คำว่า “บรรเทา” , อวิชชานุสัย ใช้คำว่า “ถอน” ; ไม่พูดคลุมเครือ เหมือนที่เราพูดกันเพ้อๆ ไป จนถึงกับจัดอนุสัยไว้ในฐานะเป็นสิ่งตายตัว ไม่มีการเกิดดับ เมื่อเสวยหรือหยุดเสวยเวทนา. แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่มีการกล่าว อย่างรวมๆ ด้วยภาษาธรรมดาๆ, ก็ได้ตรัสด้วยคำ” (ปหาตพฺโพ, ปหีโน) รวมกันทั้ง 3 อนุสัยก็มี เช่นบาลี สฬา. สํ. 18/254/363 ; 18/262/377-9; และ 18/265/385.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ