[Font : 15 ]
| |
อัสสาทะ - อาทีนวะ - นิสสรณะ ของเวทนา |  

( ธรรมลักษณะ 3 ประการของเวทนา : วัตถุแห่งสัมมาทิฏฐิ )

ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ?

(ก) ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมบรรลุ ฌานที่หนึ่ง ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมบรรลุฌานที่ 1 …. นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง, ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น เธอย่อมเสวย เวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย. ภิกษุ ท. ! เรากล่าว อัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.

(ข) ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ ย่อมบรรลุ ฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสในภายใน นำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียวแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ, เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ ย่อมบรรลุฌานที่ 2 …. นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น เธอย่อม เสวยเวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย. ภิกษุ ท. ! เรากล่าว อัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.

(ค) ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมบรรลุ ฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า “ผู้ได้บรรลุฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมบรรลุฌานที่ 3 …. นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง, ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น เธอย่อมเสวย เวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.

(ง) ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน ย่อมบรรลุ ฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน ย่อมบรรลุฌานที่สี่ …. นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง, ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น เธอย่อมเสวย เวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย. ภิกษุ ท. ! เรากล่าว อัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลายว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.

ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นอาทีนวะ (โทษอันต่ำทราม) ของเวทนาทั้งหลาย ? ภิกษุ ท. ! เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อันใด, อันนั้น เป็นอาทีนวะของเวทนาทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นนิสสรณะ (อุบายเครื่องออก) จากเวทนาทั้งหลาย ? ภิกษุ ท. ! การนำออกเสียได้ซึ่งฉันทราคะ การละเสียได้ซึ่งฉันทราคะ ในเวทนาทั้งหลาย อันใด, อันนั้น เป็นนิสสรณะจากเวทนาทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะแห่งเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการอย่างนี้ อยู่ ; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นน่ะหรือ จักรอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่มีได้.

ภิกษุ ท. ! ส่วน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะแห่งเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการอย่างนี้ อยู่ ; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละ จักรอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นเป็นฐานะที่มีได้.

- มู. ม. 12/176 - 177/205 - 208.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง