[Font : 15 ]
| |
นามรูป

1. พยัญชนะ : นามรูปโดยพยัญชนะ :

นัยที่ 1 : นามและรูป.

นัยที่ 2 : ธรรมชาติน้อมไปตามอารมณ์ และธรรมชาติที่แตกสลายอยู่เป็นปกติ.

2. อรรถะ : นามรูปโดยอรรถ : คือ ใจกับกาย ที่รวมกันทำหน้าที่ อย่างที่ไม่อาจจะแยกกันได้. ความหมายพิเศษของคำๆ นี้ : คือ ของสองอย่างมาร่วมกันทำหน้าที่ จนกลายเป็นของอย่างเดียว ; ถ้าแยกกันเมื่อใดก็ไม่อาจทำหน้าที่ใดๆ. ท่านจึงไม่ถือเอาความหมายของคำๆ นี้ว่า เป็นของสองอย่าง ; แต่เป็นของอย่างเดียว เรียกว่า “นามรูป” ; ไม่เรียกว่า นามและรูป (ความหมายทางไวยากรณ์ของคำๆ นี้ เป็นเอกวัจนะ).

3. ไวพจน์ : นามรูปโดยไวพจน์ :

3.1 ในภาษาธรรม : คือ คำว่าใจกาย.

3.2 ในภาษาคน : คือ คำว่า ชีวิตและร่างกาย.

4. องค์ประกอบ : นามรูปโดยองค์ประกอบ : มีส่วนประกอบ : คือธาตุทั้ง 6 มีวิญญาณธาตุเป็นส่วนสำคัญ ในลักษณะที่เป็นประธาน ; มีรูปธาตุ คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม เป็นปัจจัยประกอบ ; มีอากาศธาตุ (ที่ว่าง) เป็นที่รองรับทั้งหมด.

5. ลักษณะ : นามรูปโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 แห่งสังขารธรรม หรือสังขตธรรม ; เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ตามกฎอิทัปปัจจยตา ; อย่างตรงกันข้ามกับอสังขตธรรมโดยประการทั้งปวง.

5.2 หลอกหรือชวนให้ยึดถือว่า “เป็นตัวตนหรือของตน”.

5.3 ซ่อนความเป็น อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา.

6. อาการ : นามรูปโดยอาการ :

6.1 มีอาการของสิ่งที่เป็น อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา ; หากแต่ซ่อนไว้จากสายตาของสามัญชน.

6.2 มีอาการ 3 อย่าง :

1. เป็นไปตามอำนาจของสัญชาตญาณ.

2. เป็นไปตามอำนาจของกิเลส.

3. เป็นไปตามอำนาจของโพธิ.

7. ประเภท : นามรูปโดยประเภท : แบ่งโดยประเภทสอง :

7.1 นามรูปที่มีการยึดครองของอุปาทาน ด้วยอำนาจของอวิชชา ซึ่งกำลังเป็นทุกข์อยู่.

7.2 นามรูปในขณะที่ไม่ถูกยึดครองด้วยอุปาทาน หรือพ้นจากการถูกยึดครอง คือ นามรูปของพระอรหันต์.

8. กฎเกณฑ์ : นามรูปโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 นามรูปต้องเป็นสิ่งที่ไม่แยกกัน มิฉะนั้นจะทำอะไรไม่ได้.

8.2 นามรูปต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของนามรูป. ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนามรูป ต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้นๆ โดยเฉพาะกฎที่เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา”.

9. สัจจะ : นามรูปโดยสัจจะ :

9.1 นามรูปเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ และเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม : คือ ต้องอาศัยปัจจัยแล้วจึงเกิดขึ้น ตามกฎของ “อิทัปปัจจยตา”.

9.2 นามรูปที่เกิดดับอยู่ตามธรรมชาติ ยังมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท : คือ ยังไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับอวิชชา เป็นนามรูปที่ยังไม่มีปัญหา หรือจะเรียกว่ายังไม่เกิดก็ได้ ; ต่อเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องในกระแสปฏิจจสมุปบาท จึงจะเรียกว่า เกิดโดยแท้จริง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการดับทุกข์.

9.3 นามรูปย่อมสามารถในการรับอารมณ์ แล้วมีการคิด-การพูด-การกระทำได้ด้วยตัวมันเอง ; โดยไม่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า อัตตา หรือ อาตมัน.

9.4 นามรูปเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยปัจจัยซึ่งเปลี่ยนแปลงเรื่อย จึงต้องเปลี่ยนแปลงเรื่อยไปตามปัจจัย.

9.5 เมื่อดูด้วยตาจะเห็นว่านามรูปมีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ถือว่านามรูปเกิด ; จนกว่านามรูปจะได้ทำหน้าที่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทตามหน้าที่ของนามรูปแล้วดับไป ; จึงจะเรียกว่านามรูปเกิดหรือนามรูปดับ.

9.6 เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงเกิด ; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงเกิด ; นามรูปจึงมีลักษณะเป็นทั้งเหตุและผลเช่นเดียวกับปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลายอื่น.

10. หน้าที่ : นามรูปโดยหน้าที่ :

นัยที่ 1 : นามรูปมีหน้าที่ (โดยสมมติ) : ปรุงแต่งสฬายตนะเพื่อเกิดผัสสะและเวทนาต่อไป.

นัยที่ 2 : หน้าที่ของมนุษย์ต่อนามรูป : คือ รู้เท่าทันการเกิดขึ้นของนามรูป และการปรุงแต่งทางนามรูป อันจะนำมาซึ่งการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ : ได้แก่ ความมีสติอันจะนำไปสู่ความรู้โดยประจักษ์ว่า นามรูปมิใช่ตนทุกสถานที่ ทุกเวลา.

11. อุปมา : นามรูปโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 คนสองคน ; คนหนึ่งแข็งแรงตาบอด อีกคนหนึ่งเป็นง่อยตาดี ; อาศัยเป็นคนๆ เดียวกัน อาศัยกันไปไหนมาไหนได้ ไปทำอะไรที่ไหนก็ได้.

11.2 บ่าวพายเรือให้นายนั่ง.

11.3 อุปมาอย่างสมัยปัจจุบัน : เหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กับกระแสไฟฟ้า.

12. สมุทัย : นามรูปโดยสมุทัย :

12.1 วิญญาณเป็นสมุทัยของนามรูป : เพราะมีการหยั่งลงของวิญญาณในที่ใด ย่อมมีการตั้งขึ้นของนามรูปในที่นั้น.

12.2 การประชุมแห่งธาตุ 6 เป็นสมุทัยแห่งนามรูป.

12.3 เมื่อจิตมีอารมณ์อันเป็นอัสสาทะแห่งสังโยชน์A32 การตั้งขึ้นแห่งนามรูปย่อมมี.

13. อัตถังคมะ : นามรูปโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 เมื่อวิญญาณ (หรือนาม) ดับ นามรูปก็ดับ.

13.3 เมื่อเห็นความเป็นอนัตตาของนามรูป จนไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในนามรูป ; นามรูปก็หมดความหมาย มีค่าเท่ากับดับไป. นี่เป็นอัตถังคมะในความหมายที่ลึก.

14. อัสสาทะ : นามรูปโดยอัสสาทะ :

นัยที่ 1: นามรูปเป็นอัสสาทะหรือที่ตั้งแห่งอัสสาทะ: โดยความเป็นที่ตั้งแห่งการยึดถือว่าตัวตนอันเป็นที่รักไม่มีอะไรยิ่งกว่าของสามัญสัตว์.

นัยที่ 2: นามรูปมีความหมายเท่ากับความหมายของคำว่าชีวิต : จึงเป็นอัสสาทะสูงสุดของสามัญสัตว์.

นัยที่ 3 นามรูปเป็นอัสสาทะสูงสุด : เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน.

15. อาทีนวะ : นามรูปโดยอาทีนวะ : คือ เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานโดยความเป็นตัวตนของตน ; เสมือนหนึ่งสุนัขที่กัดเจ้าของของมันเอง. ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มีอาทีนวะ.

16. นิสสรณะ : นามรูปโดยนิสสรณะ :

16.1 อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นหนทางออกจากโทษหรืออิทธิพลของนามรูป.

16.2 การดับอวิชชาเสีย ย่อมเป็นนิสสรณะจากอุปาทานียธรรมA33 ในทุกความหมายโดยประการทั้งปวง.

16.3 อีกนัยหนึ่ง นิพพานเป็นที่ดับแห่งนามรูป : คือ ดับปัญหาทุกข์โทษทุกอย่างเกี่ยวกับนามรูป.

17. ทางปฏิบัติ : นามรูปโดยทางปฏิบัติ : เพื่อไม่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ :

17.1 การปฏิบัติอย่างถูกต้องตามปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร (ฝ่ายดับ).

17.2 การปฏิบัติตามอริยอัฏฐังคิกมรรค ย่อมสกัดกั้นความทุกข์ทั้งปวงอันจะเกิดจากนามรูป.

17.3 การปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในนามรูป.

18. อานิสงส์ : นามรูปโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์โดยตรงไม่มี. อานิสงส์โดยอ้อม : คือ เป็นวัตถุแห่งการศึกษาเพื่อทำให้แจ้งแห่งนิพพาน ; หรือ ความสิ้นสุดแห่งนามรูปเอง.

18.2 อานิสงส์ของการหลุดพ้นจากนามรูป: คือการดับทุกข์ทั้งปวง.

19. หนทางถลำ : นามรูปโดยหนทางถลำ : สู่ความยึดมั่นในนามรูป : คือ ความหลงใหลในอัสสาทะของนามรูปด้วยอำนาจของอวิชชา.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : นามรูปโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ในการปล่อยวางนามรูป : คือ วิชชา และวิปัสสนาญาณทุกระดับ.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : นามรูปโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : กายและใจของคน.

ภาษาธรรม : ธาตุตามธรรมชาติ ไม่มีความหมายแห่งความเป็นคน.

21.2 ภาษาคน : ตัวกู ของกู.

ภาษาธรรม : ธาตุตามธรรมชาติ ที่บุคคลถือเอาเป็นตัวกู ของกู.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์

2. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์

3. โอสาเรตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง