[Font : 15 ]
| |
วิธีพิจารณาธรรมในภายใน เพื่อความสิ้นทุกข์ |  

ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายพิจารณากันบ้างหรือไม่ ชนิดที่เป็นการพิจารณาในภายใน ?

ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ย่อมพิจารณา ชนิดที่เป็นการพิจารณาในภายในอยู่ พระเจ้าข้า !”

ภิกษุ ! เธอ ย่อมพิจารณา ชนิดที่เป็นการพิจารณาในภายในอยู่ อย่างไรเล่า ?

(ภิกษุนั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ก็ไม่ทรงพอพระทัย พระอานนท์จึงทูลขอร้องให้พระองค์ทรงแสดง ภิกษุได้ฟังแล้วจักทรงจำไว้. ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายตั้งใจฟัง แล้วตรัสว่า :-)

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อม พิจารณาชนิดที่เป็นการพิจารณาในภายใน ว่า “ทุกข์มีอย่างมิใช่น้อย นานาประการ ย่อมเกิดขึ้นในโลก กล่าวคือชรามรณะ ใดแล ; ทุกข์นี้หนอ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ? เพราะอะไรมี ชรามรณะจึงมี ?” ดังนี้. ภิกษุนั้น พิจารณาอยู่ ย่อมรู้ อย่างนี้ว่า “ทุกข์มีอย่างมิใช่น้อยนานาประการ ย่อมเกิดขึ้นในโลก กล่าวคือชรามรณะ ใดแล ; ทุกข์นี้หนอ มีอุปธิเป็นเหตุให้เกิด มีอุปธิเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีอุปธิเป็นเครื่องกำเนิด มีอุปธิเป็นแดนเกิด ; เพราะอุปธิมี ชรามรณะจึงมี ; เพราะอุปธิไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี ;” ดังนี้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัด ซึ่งชรามรณะด้วย ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะด้วย ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะด้วย ซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงซึ่งธรรมอันสมควรแก่ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะด้วย และเป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างสมควรแก่ธรรมด้วย. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ กล่าวคือเพื่อความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ โดยประการทั้งปวง.

ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อม พิจารณาชนิดที่เป็นการพิจารณาในภายใน ว่า “ก็อุปธินี้ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ? เพราะอะไรมี อุปธิจึงมี เพราะอะไรไม่มีอุปธิจึงไม่มี ?” ดังนี้. ภิกษุนั้น พิจารณาอยู่ ย่อมรู้ อย่างนี้ว่า “อุปธินี้ มีตัณหาเป็นเหตุให้เกิด มีตัณหาเป็นเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีตัณหาเป็นเครื่องกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด ; เมื่อตัณหามีอุปธิจึงมี เมื่อตัณหาไม่มีอุปธิจึงไม่มี ;” ดังนี้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัด ซึ่งอุปธิด้วย ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งอุปธิด้วย ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปธิด้วย ซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงซึ่งธรรมอันสมควรแก่ความดับไม่เหลือแห่งอุปธิด้วย และเป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างสมควรแก่ธรรมด้วย. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ กล่าวคือเพื่อความดับไม่เหลือแห่งอุปธิ โดยประการทั้งปวง.

ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อม พิจารณาชนิดที่เป็นการพิจารณาในภายใน ว่า “ก็ตัณหานี้ เมื่อจะเกิดย่อมเกิดขึ้น ณ ที่ไหน ? เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ?” ดังนี้. ภิกษุนั้น พิจารณาอยู่ ย่อมรู้ อย่างนี้ว่า สิ่งใดมีภาวะเป็นที่รักเป็นที่ยินดี (ปิยรูปสาตรูป) ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะเกิดย่อมเกิดขึ้น ในสิ่งนั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ ในสิ่งนั้น. ก็สิ่งใดเล่า มีภาวะเป็นที่รักเป็นที่ยินดีในโลก ? จักษุ มีภาวะเป็นที่รักเป็นที่ยินดีในโลก โสตะ …. ฆานะ …. ชิวหา …. กายะ …. มนะ มีภาวะเป็นที่รักเป็นที่ยินดีในโลก. ตัณหานี้ เมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในธรรมมีภาวะน่ารักน่ายินดีเหล่านี้, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในธรรมมีภาวะน่ารักน่ายินดีเหล่านี้.

(ต่อจากนี้ ได้ตรัสถึงบุคคลบางพวกในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เห็นปิยรูปสาตรูปโดยความเป็นของเที่ยง ของสุขเป็นต้น แล้วทำตัณหาให้เจริญ ทำอุปธิให้เจริญ เท่ากับทำทุกข์ให้เจริญ ไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ ; และได้ตรัสฝ่ายตรงข้ามโดยปฏิปักขนัยไว้เป็นคู่กัน.

สำหรับปิยรูปสาตรูปนั้น ในที่อื่นกล่าวไว้เป็นหกหมวด ตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร รวมกันเป็น 60 อย่าง ; ในที่นี้กล่าวไว้เพียง 6 อย่าง ตามจำนวนแห่งอายตนะภายใน, แม้กระนั้นก็อาจจะขยายออกไปได้เป็น 60 อย่าง เช่นเดียวกัน ; ผู้สนใจพึงหาอ่านดูได้ จากมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นต้น เองเถิด).

- นิทาน. สํ. 16/130 - 135/254 - 262.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง