[Font : 15 ]
| |
บาป

1. พยัญชนะ : บาปโดยพยัญชนะ : คือ ธรรมชาติอันบุคคลพึงทำตนให้ห่างไกล.

2. อรรถะ : บาปโดยอรรถะ :

2.1 สิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง, เลวทราม, ชั่วช้า, น่ารังเกียจ; มีความหมายในแง่ลบมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้คำพูดคำนี้.

2.2 สิ่งที่ทำให้ต้องเดือดร้อนหรือเสียใจในภายหลัง.

2.3 เป็นปรปักษ์ต่อสิ่งที่เรียกว่า บุญ.

3. ไวพจน์ : บาปโดยไวพจน์ : คือ อกุศล, ความชั่ว, ความน่าเกลียด ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : บาปโดยองค์ประกอบ : คือ มิจฉาทิฏฐิ, เจตนาในการกระทำ, ความพยายามในการกระทำ, ความพอใจในผลของการกระทำ.

5. ลักษณะ : บาปโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 ตรงกันข้ามจากบุญ.

5.2 เป็นของน่าเกลียด.

5.3 ไม่น่าปรารถนา.

5.4 เป็นของหนัก เป็นเงาตามตัวเหมือนโซ่ตรวนที่ติดขา.

5.5 พร้อมที่จะทำลายบุญ.

5.6 เป็นบันไดไปสู่นรก.

6. อาการ : บาปโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 เกิด - ดับ เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยในฐานะที่เป็นสังขตธรรมอย่างหนึ่ง.

6.2 ปรุงแต่งภพฝ่ายต่ำ.

7. ประเภท : บาปโดยประเภท : แบ่งโดยประเภทสอง :

นัยที่ 1 :

1. บาปตามความหมายของคนอันธพาล คือน่ารักของคนอันธพาล.

2. บาปตามความหมายของสัตบุรุษ คือสิ่งเศร้าหมองที่ควรห่างไกล.

นัยที่ 2 :

1. บาปตามความหมายของผู้อยู่ใต้วิสัยแห่งบาป คือเป็นธรรมทำอันตราย.

2. บาปตามความหมายของผู้อยู่เหนือวิสัยแห่งบาป (พระอรหันต์) ; เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่มีความหมายอะไร (เป็นความรู้สึกที่อยู่เหนือบาป).

นัยที่ 3 :

1. บาปที่ทำโดยเจตนา.

2. บาปที่ทำโดยไม่เจตนา (คือมิใช่บาปเพราะเป็นการกระทำโดยมิได้เจตนา แต่ก็ต้องได้รับผลตามควรแก่กรณี).

นัยที่ 4 :

1. บาปหนัก ถึงกับสูญเสียความเป็นมนุษย์.

2. บาปเบา รับโทษเล็กๆ น้อยๆ ตามสมควร โดยไม่ต้องถึงกับสูญเสียความเป็นมนุษย์ หากแต่เป็นมนุษย์ชั้นเลว.

8. กฎเกณฑ์ : บาปโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 บาปโดยเหตุ ต้องล้างบุญ ; บาปโดยผล ต้องเป็นทุกข์.

8.2 มีกฎเกณฑ์ที่ต้องถือว่าเป็นสิ่งควรละโดยส่วนเดียว.

8.3 บาปซื้อขายแลกเปลี่ยนหยิบยืมกันไม่ได้.

9. สัจจะ : บาปโดยสัจจะ :

9.1 บาปมีได้จากมิจฉาทิฏฐิโดยส่วนเดียว.

9.2 บาปมีมูลจากโลภะ โทสะ โมหะ.

9.3 บาปไม่มีชนิดสะอาด มีแต่สกปรกเศร้าหมอง.

9.4 บาปมีได้สำหรับคนบ้าบาปโดยไม่รู้จักบาป.

10. หน้าที่ : บาปโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของบาป : คือ ทำลายบุญ.

10.2 หน้าที่ของคนต่อบาป : คือ การกำจัดบาป ไม่ให้โอกาสแก่การเกิดบาป.

11. อุปมา : บาปโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 บันไดไปนรก.

11.2 ยานพาหนะไปสู่ความพินาศ.

11.3 เหล้าหวาน.

11.4 อ้อยหวานที่โคน ขมที่ปลาย.

11.5 ยาพิษที่เคลือบน้ำตาล.

12. สมุทัย : บาปโดยสมุทัย :

12.1 การชักชวน เกลี้ยกล่อม หลอกลวงของปาปมิตร.

12.2 มิจฉาทิฏฐิ.

12.3 ปาปกามตา หรือ มิจฉาสังกัปปะ.

12.4 การประทุษร้ายห้าประการ : คือ ประทุษร้ายชีวิตร่างกาย - ทรัพย์สมบัติ - ของรักของผู้อื่น - ความเป็นธรรมของผู้อื่น - สมปฤดีของตนเอง. จากห้าอย่างนี้จะขยายไปเป็นกี่อย่างก็ได้.

13. อัตถังคมะ : บาปโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะการขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 เพราะบุญเกิดขึ้นแทรกแซงในบางกรณี.

13.3 เพราะความสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ นี้เป็นอัตถังคมะของบาปชั้นสูงสุด.

14. อัสสาทะ : บาปโดยอัสสาทะ : อัสสาทะของบาปมีสำหรับคนบาป.

15. อาทีนวะ : บาปโดยอาทีนวะ :

15.1 เป็นทุกข์ นำมาซึ่งความทุกข์รอบด้าน.

15.2 ทำให้เป็นที่เกลียดชัง สูญเสียความเคารพนับถือจากคนทั่วไป.

16. นิสสรณะ : บาปโดยนิสสรณะ : นิสสรณะจากบาป ด้วย :

16.1 อริยมรรคมีองค์ 8.

16.2 การทำภาวนาในปุญญานุสติอยู่เป็นประจำ.

17. ทางปฏิบัติ : บาปโดยทางปฏิบัติ :

นัยที่ 1 : ทางปฏิบัติต่อบาป : คือ การบำเพ็ญบุญ ซึ่งเป็นเครื่องขจัดบาป.

นัยที่ 2 : ทางปฏิบัติให้พ้นจากบาป : โดยหลักโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา 3 ประการ : คือ เว้นจากการทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้ผ่องแผ้ว.

นัยที่ 3 : ทางปฏิบัติให้สิ้นบาปหรือเหนือบาป : คือ อรหัตตมรรคญาณ.

18. อานิสงส์ : บาปโดยอานิสงส์ : อานิสงส์ (โดยอ้อม) ของบาป : คือ การสอนอย่างรุนแรงและเจ็บปวด จนทำให้รู้จักบาปและไม่ทำบาปอีกต่อไป.

19. หนทางถลำ : บาปโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่าบาป :

19.1 การสมาคมกับคนบาป.

19.2 การบูชากิน - กาม - เกียรติ หรือที่เรียกว่า กินดี อยู่ดี ทางวัตถุ.

19.3 การดูถูกดูหมิ่นศีลธรรม วัฒนธรรม (แท้) และศาสนา.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : บาปโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เพื่อการละบาปและอยู่เหนือบาป : คือสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะอันเพียงพอ ; แล้วดำเนินไปตามหลักการของสัมมาทิฏฐิจนถึงที่สุด. จึงจะมีการละบาป และอยู่เหนือบาปได้อย่างปลอดภัย และสิ้นเชิง.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : บาปโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : เป็นเครื่องมือขู่คนให้กลัว โดยไม่ต้องใช้เหตุผล.

ภาษาธรรม : เป็นเครื่องบอกความจริงที่มีเหตุผล และไม่เป็นเครื่องมือขู่เข็ญใคร.

21.2 ภาษาคน : อาศัยความเชื่อตามที่สมมติบัญญัติขึ้น.

ภาษาธรรม : อาศัยสติปัญญาตามความจริงของธรรมชาติ มิใช่การสมมติบัญญัติ.

21.3 ภาษาคน : บาปน่ากลัวเหมือนกลัวผี.

ภาษาธรรม : บาปน่ากลัวเหมือนกลัวความตาย.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ศารทกาลิกเทศนา เล่ม 1

2. อริยสัจจากพระโอษฐ์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง